คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทมีเจตนาเพียงจะเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากประชาชนผู้มาสมัครงานโดยมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตัวกรรมการของบริษัทเองหรือเพื่อบริษัทอันเป็นการกระทำโดยทุจริตโดยประกาศหลอกลวงให้ประชาชนมาสมัครงานด้วยแสดงข้อความเท็จว่าให้สมัครเข้ามาทำงานแต่บริษัทหามีงานให้ทำไม่จำเลยที่1และที่2ในฐานะกรรมการบริหารงานของบริษัทย่อมจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทไม่มีงานให้ทำแต่ก็ยังร่วมดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานตลอดมาเป็นการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนและในการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานดังกล่าวเป็นเหตุทำให้บริษัทกับกรรมการของบริษัทได้ไปซึ่งเงินประกันการทำงานจากผู้สมัครการกระทำของจำเลยที่1และที่2จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา341,343วรรคแรก การที่บริษัทได้รับผู้เสียหายเข้าทำงานแล้วได้ให้ผู้เสียหายซื้อหุ้นคนละ30หุ้นเป็นเงิน3,000บาทมีลักษณะเป็นการรับเข้าร่วมลงทุนและได้มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เสียหายโดยให้เงินปันผลหรือเงินค่าครองชีพเดือนละ135บาทจึงเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ.2527มาตรา3เมื่อบริษัทจัดให้มีผู้รับเงินในการรับสมัครงานที่มิชอบหรือจ่ายหรือตกลงหรือจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดดังกล่าวและในการกู้เงินดังกล่าวได้มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ135บาทหรือคิดเป็นอัตราถึงร้อยละ54ต่อปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำผิดตามมาตรา5แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ.2527เมื่อจำเลยที่1และที่2เป็นผู้ร่วมรับเงินที่ผู้เสียหายได้นำมาเข้าร่วมลงทุนเพื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวจึงมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ.2527มาตรา5 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา344ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผลคือการทำงานของผู้ถูกหลอกลวงให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สามโดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือโดยจะใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกันการกระทำของจำเลยที่1และที่2ที่ได้กระทำในนามของบริษัทโดยอ้างว่ามีงานให้ทำก็ดีการรับผู้เสียหายเข้าทำงานก็ดีการคืนเงินประกันการทำงานเมื่อครบกำหนด6เดือนแล้วก็ดีล้วนเป็นอุบายทุจริตคิดตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อและมอบเงินให้แสดงว่าจำเลยที่1และที่2หลอกลวงผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่1และที่2เท่านั้นมิได้มีเจตนาหลอกลวงเพื่อมิให้มาทำงานเพราะความจริงแล้วไม่มีงานให้ทำที่จำเลยที่1และที่2จัดให้มีการทำงานในช่วงแรกๆและจ่ายเงินเดือนให้ก็เป็นวิธีการในการหลอกลวงอย่างหนึ่งซึ่งต่อมาภายหลังก็ไม่มีงานให้ทำและไม่จ่ายเงินเดือนให้กรณีจึงมิให้เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา344ไม่มีความผิดตามมาตรานี้ ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษโดยรวมโทษทุกกระทงแล้วปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา91(2)ทั้งที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดคือความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง20ปีนั้นไม่ถูกต้องที่ถูกต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา91(3)รวมจำคุกคนละ50ปีแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้องศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งห้าคงแก้ไขให้ถูกต้องได้เฉพาะปรับบทให้ถูกต้องเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา341, 343, 344, 83, 91 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 9, 12 ประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ข้อ 2, 8, 14ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หมวด 4 ข้อ 29 และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงิน 2,738,800 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 96 คน ด้วย
จำเลย ทั้ง ห้า ให้การ ปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก, 344 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 5 (2) (ก)(ที่ถูกมาตรา 5 (1) (2) (ก), 12) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 5 (2) (ก) (ที่ถูกพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 5 (1) (2) (ก), 12) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 7 ปี และมีความผิดตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515ข้อ 2, 8 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หมวด 4 ข้อ 29 ประกอบประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 2 เดือน จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดรวม 52 กระทง และกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุก 7 ปี รวม 51 กระทง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) รวมจำคุกคนละ 20 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายนั้น เนื่องจากผู้เสียหายบางส่วนฟ้องเรียกเงินดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลาง และศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาแล้วจึงไม่แน่นอนว่าเงินที่จะสั่งให้จำเลยทั้งห้าคืนให้ผู้เสียหายมีจำนวนเท่าใดให้ผู้เสียหายไปเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวในทางแพ่งจากจำเลยเอง
จำเลย ทั้ง ห้า อุทธรณ์
ระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4และที่ 5
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อกฎหมายว่า บริษัทมีเจตนาเพียงจะเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากประชาชนผู้มาสมัครงานโดยมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตัวกรรมการของบริษัทเองหรือเพื่อบริษัทอันเป็นการกระทำโดยทุจริต โดยประกาศหลอกลวงให้ประชาชนมาสมัครงาน ด้วยแสดงข้อความเท็จว่าให้สมัครเข้ามาทำงาน แต่บริษัทหามีงานให้ทำไม่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการบริหารงานของบริษัทย่อมจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทไม่มีงานให้ทำ แต่ก็ยังร่วมดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานตลอดมา เป็นการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนและในการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานดังกล่าวเป็นเหตุทำให้บริษัทกับกรรมการของบริษัทได้ไปซึ่งเงินประกันการทำงานจากผู้สมัครคนละ 27,000 บาทการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก
การที่บริษัทได้รับผู้เสียหายเข้าทำงานแล้วได้ให้ผู้เสียหายซื้อหุ้นคนละ 30 หุ้น เป็นเงิน 3,000 บาท มีลักษณะเป็นการรับเข้าร่วมลงทุนและได้มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เสียหายโดยให้เงินปันผลหรือเงินค่าครองชีพเดือนละ 135 บาทจึงเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 เมื่อบริษัทจัดให้มีผู้รับเงินในการรับสมัครงานที่มิชอบ หรือจ่ายหรือตกลงจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กู้ยืมตามพระราชกำหนดดังกล่าวแล้ว และในการกู้เงินดังกล่าวได้มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ 135 บาท หรือคิดเป็นอัตราถึงร้อยละ 54 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นผู้ร่วมรับเงินที่ผู้เสียหายได้นำมาเข้าร่วมลงทุนเพื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว จึงมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 5
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผล คือการทำงานของผู้ถูกหลอกลวงให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ได้กระทำในนามของบริษัทโดยอ้างว่ามีงานให้ทำก็ดี การรับผู้เสียหายเข้าทำงานก็ดีการจะคืนเงินประกันการทำงานเมื่อครบกำหนด 6 เดือน แล้วก็ดีล้วนเป็นอุบายทุจริตคิดตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อและมอบเงินให้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น มิได้มีเจตนาหลอกลวงเพื่อให้มาทำงาน เพราะความจริงแล้วไม่มีเงินให้ทำ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้มีการทำงานในช่วงแรก ๆ และจ่ายเงินเดือนให้ก็เป็นวิธีการในการหลอกลวงอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็ไม่มีงานให้ทำและไม่จ่ายเงินเดือนให้ กรณีจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344ดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้
ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษโดยรวมโทษทุกกระทงแล้วปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นั้นยังไม่ถูกต้องเนื่องจากผิดกระทงที่หนักที่สุดคือความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 20 ปี ที่ถูกต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)รวมจำคุกคนละ 50 ปี แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งห้า คงแก้ไขให้ถูกต้องได้เฉพาะปรับบทให้ถูกต้องเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งห้าในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 และให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share