คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โดยทำงานที่โรงแรมโอเรียนเต็ลซึ่งเป็นของจำเลย โจทก์ทั้งสองได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบการโรงแรมโอเรียนเต็ลโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2531 โจทก์กับกรรมการลูกจ้างอื่นราว 11 คน ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการลูกจ้างทั้งหมด ทำหนังสือถึงจำเลยขอให้จัดประชุมร่วมหารือระหว่างกรรมการลูกจ้างกับจำเลยตามกฎหมาย แต่จำเลยปฏิเสธที่จะจัดประชุม การกระทำของจำเลยมิชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธื พ.ศ. 2518 ทำให้โจทก์ทั้งสองในฐานะกรรมการลูกจ้างได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจัดประชุมร่วมหารือกับคณะกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

ย่อยาว

จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองมิใช่คณะกรรมการลูกจ้างทั้งหมดและไม่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการลูกจ้างทุกคนที่ขอให้
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโรงแรมโอเรียนเต็ลก็ตาม ถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการลูก้างโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อโจทก์กับกรรมการลูกจ้างอื่นรวม 11 คน จากจำนวนลูกจ้างทั้งหมด 13 คน ทำหนังสือขอให้จำเลยจัดประชุมหารือกับคณะกรรมการลูกจ้างเรื่องโครงการหักเงินลูกจ้างเดือนละ 20 บาท เพื่อเป็นการเสริมสวัสดิการของจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมจัดประชุมร่วม โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจัดประชุมร่วมหารือกับคณะกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา50
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อ 2 ของจำเลยก่อน จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีนี้คณะกรรมการลูกจ้างทั้ง 13 คน มิได้เป็ฯโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางและมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ทั้งสองในนามของคณะกรรมการลูกจ้างทั้ง 13คน ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางนี้ แต่โจทก์ทั้งสองเป็นโจทก์ในฐานะกรรมการลูกจ้างที่ 1 และที่ 2 เท่านั้นที่ฟ้องคดีนี้หากจะฟังว่าโจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อคณะกรรมการลูกจ้างทั้ง 13 คน มิได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางโจทก์ในฐานะกรรมการลูกจ้างสองคนเท่านั้นจึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 50 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบการโรงแรมโอเรียนเต็ลแต่จำเลยไม่เคยจัดประชุมร่วมหารือกับคณะกรรมการลูกจ้าง โจทก์ทั้งสองร่วมกับกรรมการลูกจ้างอื่นรวม11 คน ได้ทำหนัหงสือถึงจำเลยขอให้จัดประชุมร่วมหารือระหว่างกรรมการลูกจ้างกับจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธที่จะจัดประชุมร่วมซึ่งไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทำให้หโจทก์ทั้งสองในฐานะกรรมการลูกจ้างได้รับความเสียหายมิอาจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการลูกจ้างได้ ส่วนคำขอบังคับของโจทก์นั้น โจทก์บรรยายว่าให้จำเลยจัดประชุมร่วมหารือกับคณะกรรมการลูกจ้างตามบทบัญญัติมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในนามคณะกรรมการลูกจ้าง เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการลูกจ้างซึ่งมิใช่นิติบุคคลหาได้มอบอำนาจหรือแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในนามของคณะกรรมการลูกจ้างไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ เช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไป’
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share