แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในคดีอาญาเมื่อศาลเห็นสมควรย่อมมีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้วทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อศาล เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งว่ารายงานดังกล่าวไม่ถูกต้อง ศาลย่อมหยิบยกข้อเท็จจริงตามรายงานมาประกอบการวินิจฉัยได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่จำเลยที่ 3 การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกเอาพฤติกรรมการกระทำความผิดหรือพฤติการณ์อันเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 3 ของพนักงานคุมประพฤติมาประกอบการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น จึงชอบแล้ว
ในปัจจุบันคดีลักรถจักรยานยนต์มีเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป และพฤติการณ์หลังจากที่จำเลยทั้งสามลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสามช่วยกันถอดแผ่นป้ายทะเบียนรถและแผ่นป้ายประกันภัย ทั้งลอกสติกเกอร์ที่ติดรถออกเพื่อไม่ให้ผู้อื่นทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมา แสดงว่าจำเลยที่ 3 รู้สำนึกว่าการกระทำของตนกับพวกเป็นความผิด แต่จำเลยที่ 3 ยังคงกระทำความผิดโดยไม่สนใจในความเดือดร้อนของผู้อื่น นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรงไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 3 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 (1) วรรคแรก (ที่ถูกมาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง) จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 155/2544 ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกเอาพฤติกรรมการกระทำความผิดหรือพฤติการณ์อันเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 3 ของพนักงานคุมประพฤติมาพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า ในคดีอาญาเมื่อศาลเห็นสมควรย่อมมีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้วทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อศาลเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งว่ารายงานดังกล่าวไม่ถูกต้อง ศาลย่อมหยิบยกข้อเท็จจริงตามรายงานมาประกอบการวินิจฉัยได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษแก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกเอาพฤติกรรมการกระทำความผิดหรือพฤติการณ์อันเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 3 ของพนักงานคุมประพฤติมาประกอบการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ในปัจจุบันคดีลักรถจักรยานยนต์มีเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป และพฤติการณ์หลังจากที่จำเลยทั้งสามลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสามช่วยกันถอดแผ่นป้ายทะเบียนรถและแผ่นป้ายประกันภัย ทั้งลอกสติกเกอร์ที่ติดรถออก ก็เพื่อไม่ให้ผู้อื่นทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมา แสดงว่าจำเลยที่ 3 รู้สำนึกว่าการกระทำของตนกับพวกเป็นความผิดแต่จำเลยที่ 3 ยังคงกระทำความผิดโดยไม่สนใจในความเดือดร้อนของผู้อื่น จึงนับเป็นเรื่องร้ายแรง และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มีมนุษยสัมพันธ์ดีและพร้อมที่จะได้รับคัดเลือกให้เป็นทหารกองประจำการนั้น ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปควรปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน