แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญใด ๆ การให้จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่การให้ซึ่งจะต้องมีทั้งผู้ให้และผู้รับและผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น
ผู้ให้มีแต่สิทธิครอบครองในที่พิพาท ดังนั้น ผู้ให้จะโอนการครอบครองให้แก่ผู้รับก็แต่ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง เว้นแต่ผู้รับจะครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ก่อนแล้วก็ทำได้โดยเพียงแสดงเจตนา
ขณะที่เจ้ามรดกทำหนังสือยกที่พิพาทให้แก่ผู้รับผู้รับไม่อยู่ได้มาลงชื่อภายหลังและไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกส่งมอบที่พิพาทให้ผู้รับครอบครองหรือผู้รับได้ครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนทั้งหนังสือยกให้นั้นเป็นการยกให้โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน โดยให้มีผลสมบูรณ์ก่อนเจ้ามรดกตาย 3 วัน จึงยังฟังไม่ได้ว่าเจ้ามรดกได้แสดงเจตนาสละและโอนการครอบครองที่พิพาทให้ผู้รับที่พิพาทครึ่งหนึ่งที่เป็นสินสมรสของเจ้ามรดกจึงยังเป็นมรดกของเจ้ามรดกอยู่ เมื่อโจทก์จำเลยและเจ้ามรดกเป็นอิสลามมิกชน มีภูมิลำเนาอยู่ในเขต 4 จังหวัด ดังนั้น ในการวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนในมรดกเพียงใด จำต้องให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาดข้อกฎฆมายอิสลามและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยและนายแวสาเฮาะ เจ้ามรดกเป็นอิสลามมิกชน มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดยะลาและจังหวัดปัตตานีซึ่งใช้กฎหมายอิสลามบังคับ เจ้ามรดกเป็นพี่ชายของโจทก์ทั้งสองและเป็นสามีของจำเลยโดยไม่มีบุตรต่อกัน เจ้ามรดกตายเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๗ ก่อนตายเจ้ามรดกมีทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องรวมเป็นเงิน ๑๔๐,๐๐๐ บาท สวนยางพาราตามบัญชีทรัพย์อันดับ ๑ เมื่อแบ่งครึ่งกับลูกจ้างแล้วเหลือเป็นทรัพย์มรดก ๑๑,๓๔๐ บาท รวมเป็นทรัพย์มรดกที่ต้องแบ่งทั้งหมดเป็นเงิน ๑๕๑,๓๔๐ บาท ทรัพย์มรดกทั้งหมดจะต้องแบ่งกันตามกฎหมายอิสลาม ฯลฯ เมื่อเจ้ามรดกตายแล้ว จำเลยเป็นผู้ครอบครองเก็บผลประโยชน์จากสวนยางตลอดมาแต่ผู้เดียว โจทก์ทั้งสองขอแบ่งจำเลยไม่ยอมโดยอ้างว่าเจ้ามรดกได้ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บุตรเลี้ยงแล้วซึ่งไม่เป็นความจริง จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่าโจทก์จำเลยและเจ้ามรดกเป็นอิสลามมิกชนและมีภูมิลำเนาตามฟ้อง ซึ่งใช้กฎหมายอิสลามบังคับจริง โจทก์ที่ ๑ ไม่มีชื่อในบัญชีเครือญาติ ไม่มีส่วนได้เสีย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เจ้ามรดกกับจำเลยมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือนางรอบิเอ๊าะหรือรอบิอะห์ เจ้ามรดกได้ทำหนังสือยกที่ดินสวนยางและบ้านให้แก่นางรอบิเอ๊าะ ตั้งแต่ ๖ เมษายน ๒๕๑๗ มีผลบังคับตามหนังสือยกให้ก่อนเจ้ามรดกตาย ๓ วัน หนังสือยกให้สมบูรณ์ตามกฎหมายอิสลามและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฯลฯ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินสวนยางและที่ปลูกบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับจำเลยซึ่งมีส่วนแบ่งคนละครึ่ง ปัญหาวินิจฉัยมีว่าเจ้ามรดกได้ทำหนังสือยกที่พิพาทให้กับนางรอบิเอ๊าะตามเอกสารหมาย ล.๑ นั้น มีผลสมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญใด ๆ เลย การยกให้จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่การให้ซึ่งจะต้องมีทั้งผู้ให้และผู้รับและผู้รับยอมเอาทรัพย์สินนั้น สำหรับที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งมีแต่สิทธิครอบครอง ผู้ให้จะโอนการครอบครองให้แก่ผู้รับก็แต่ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง เว้นแต่ผู้รับจะครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ก่อนแล้ว ก็ทำได้โดยเพียงแสดงเจตนา แต่ขณะเจ้ามรดกทำหนังสือยกที่พิพาทให้นางรอบิเอ๊าะตามเอกสารหมาย ล.๑ นั้น นางรอบิเอ๊าะไม่อยู่ ได้มาลงชื่อภายหลัง และไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกส่งมอบที่พิพาทให้นางรอบิเอ๊าะครอบครองหรือนางรอบิเอ๊าะได้ครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อน ทั้งหนังสือยกให้ตามเอกสารหมาย ล.๑ นั้น เป็นการยกให้โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน โดยให้มีผลสมบูรณ์ก่อนเจ้ามรดกตาย ๓ วัน จึงยังฟังไม่ได้ว่าเจ้ามรดกได้แสดงเจตนาสละและโอนการครอบครองที่พิพาทนางรอบิเอ๊าะ ที่ดินสวนยางพาราตามบัญชีทรัพย์อันดับ ๑ และที่ดินปลูกบ้านตามบัญชีทรัพย์อันดับ ๒ ครึ่งหนึ่งที่เป็นสินสมรสของเจ้ามรดก จึงยังเป็นมรดกของเจ้ามรดกอยู่ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าที่พิพาททั้ง ๒ แปลงดังกล่าวไม่เป็นมรดกของผู้ตาย แล้ววินิจฉัยยกฟ้อง โดยไม่วินิจฉัยประเด็นข้อต่อไปว่า ผลประโยชน์ที่เกิดจากมรดกที่พิพาทมีเพียงใด และโจทก์มีส่วนมรดกเพียงใดตามที่ได้ตั้งประเด็นไว้ไม่ต้องด้วย ความเห็นของศาลฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นมรดก ในการวินิจฉัยประเด็นต่อไปในข้อที่ว่าโจทก์มีส่วนมรดกเพียงใดจะต้องให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี ฯลฯ พ.ศ. ๒๔๘๙
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ โดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมา และที่ศาลชั้นต้นจะได้วินิจฉัยในประเด็นต่อไปอีก ๒ ข้อ ตามฟ้องที่ได้กล่าวมาข้างต้น