คำสั่งคำร้องที่ 987/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า การที่โจทก์อุทธรณ์ในลักษณะเป็นข้อกฎหมายทำนองว่ายังมีเหตุจำเป็นที่โจทก์ไม่สามารถไปรับเงินเดือนได้ก็ดี จำเลยห้ามโจทก์เข้าโรงงานก็ดีจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ก็ดี ยังไม่มีเหตุเพียงพอจะเลิกจ้างก็ดี ซึ่งต่างก็เป็นการอุทธรณ์ให้ต้องรับฟังข้อเท็จจริงที่ต่างกับคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ถือเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เหตุนี้จึงไม่รับอุทธรณ์โจทก์
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์โจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยอุทธรณ์ข้อ 2.1 เป็นปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างให้โจทก์หรือไม่ ข้อ 2.2 เป็นปัญหาว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อ 2.3 เป็นปัญหาว่า การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้โจทก์ส่งมอบเอกสารและทรัพย์สินนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ไม่ชอบและการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างหรือไม่ข้อ 2.4 เป็นปัญหาในเรื่องสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อด้วย
หมายเหตุ จำเลยที่ 1 และผู้ร้องสอดต่างได้รับสำเนาคำร้องแล้ว เฉพาะจำเลยที่ 1 แถลงคัดค้าน(อันดับ 105,102 แผ่นที่ 2)
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลแรงงานกลาง อนุญาต ต่อมานายนากาบะโมริซากิ จำเลยที่ 2ซึ่งโจทก์ถอนฟ้องไปแล้วนั้นร้องสอดเข้าเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยที่ 1 ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และผู้ร้องสอดร่วมกัน จ่ายค่าจ้างจำนวน 180,000 บาทให้โจทก์ และให้โจทก์คืน ทรัพย์สินและเอกสารอันดับที่ 1 และอันดับที่ 3 ถึงอันดับ ที่ 17 ตามคำร้องของ โจทก์ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2534 ให้จำเลยที่ 1 ฯลฯ
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 99)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 100)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อุทธรณ์ข้อ 2.1 ของโจทก์ในประเด็น ที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ หรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นหน้าที่ของ โจทก์ที่จะต้องไปรับเงินเดือนที่สำนักงานของจำเลย การที่โจทก์ ไม่ได้ไปรับเงินเดือนดังกล่าวตามกำหนด จะถือว่าจำเลยผิดนัด ไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ไม่ได้ไปรับเงินเดือนนั้น เป็นเพราะ จำเลยได้สั่งพักงานโจทก์และห้ามโจทก์มิให้เข้าไปในโรงงานและ สำนักงานของโจทก์โดยมิชอบ แต่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้ แล้วว่า การที่จำเลยที่ 1 สั่งพักงานโจทก์และเลิกจ้างโจทก์ นั้นมิได้กระทำไปโดยกลั่นแกล้งโจทก์โดยหาทางบีบให้โจทก์ออกจากงานแต่ประการใด จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับ ฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหา ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54
อุทธรณ์ข้อ 2.2 ของโจทก์ในประเด็นที่ว่า ผู้ร้องสอดต้องรับผิดชำระเงินค่าตอบแทนปีละ 860,000 บาทแก่โจทก์หรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญาการมอบงานตามเอกสารหมาย จ.14 ที่ผู้ร้องสอดในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทนิปปอนแฮม จำกัด ทำไว้กับโจทก์ ไม่มีการกำหนดว่าโจทก์จะต้องทำงานอย่างไร และบริษัทนิปปอนแฮม จำกัด มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์หรือไม่เพียงใด จึงมิใช่สัญญาซึ่งโจทก์จะต้องทำงานให้แก่บริษัทนิปปอนแฮมจำกัดและบริษัทนิปปอนแฮม จำกัดจะจ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่โจทก์ทำงานให้ ไม่ถือว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน แม้ผู้ร้องสอดจะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทนิปปอนแฮม จำกัด ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ โจทก์ก็มิอาจฟ้องให้ผู้ร้องสอดรับผิดตามสัญญาดังกล่าวที่ศาลแรงงานได้ แต่อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องนี้ มิได้โต้แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางไม่ชอบอย่างไร และโจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องให้ผู้ร้องสอดรับผิดตามสัญญาดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางได้เพราะเหตุใด อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อุทธรณ์ข้อ 2.3 ของโจทก์ในประเด็นที่ว่า การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่ผิดสัญญาจ้างและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ มิใช่เรื่อง ที่จำเลยที่ 1 กลั่นแกล้งโจทก์โดยหาทางบีบให้โจทก์ออกจากงานแต่ประการใด โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้โจทก์พักงานและไม่ให้โจทก์เข้าทำงานนั้น จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการผิดสัญญาจ้างจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54
อุทธรณ์ข้อ 2.4 ของโจทก์ในประเด็นเกี่ยวกับค่าชดเชยนั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหายและฝ่าฝืนคำสั่งโดยชอบของจำเลยกรณีร้ายแรงจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)(4) โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบ และจำเลยมิได้จงใจทำให้โจทก์เสียหายจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 เช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์มานั้นชอบแล้ว ยกคำร้อง

Share