คำสั่งคำร้องที่ 950/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้นซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงไม่รับฎีกาโจทก์เห็นว่า โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า เช็คเอกสารหมายจ.1 เป็นเช็คที่สมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมาย มิได้เสียไปแต่อย่างใดจำเลยซึ่งลงลายมือชื่อสั่งจ่ายต้องผูกพันตามเช็ค เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ จำเลยยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 110 แผ่นที่ 2)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 112)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ลายมือเขียนข้อความคำว่า “เก้าหมื่น” ตรงช่องจำนวนเงินในเช็ค เปรียบเทียบกับลายมือเขียนข้อความคำว่า “สามพันบาทถ้วน” ตรงช่องจำนวนเงินในเช็คและตัวอย่างลายมือเขียนข้อความของจำเลยที่เขียนต่อหน้าศาลกับลายมือเขียนตัวเลขอารบิค “9” กับ “3,000” ไม่ใช่ลายมือของบุคคลคนเดียวกัน เป็นการแก้ไขจำนวนเงินในเช็ค จึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในผล จึงเป็นคดีที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้เขียนข้อความและตัวเลขในเช็คให้แตกต่างกันก็ดี และฎีกาข้ออื่นอันมีความหมายว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ดี ล้วนเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share