แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดี อย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่ง ว่า ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ประกอบกับการที่ โจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นประการอื่น เห็นว่าจำเลยที่ 3 นั้นเป็นผู้มีฐานะยากจน แต่คำฟ้องของจำเลยที่ 3 นั้น ไม่มีเหตุที่จะฎีกาได้เนื่องจากเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้าม จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นฎีกาในปัญหา ข้อกฎหมาย หากจะฟังว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ไม่ต้องห้ามฎีกา ทั้งนี้เนื่องจากทุนทรัพย์ที่โจทก์และจำเลยทั้งสามพิพาทกันมาแต่ศาลชั้นต้นที่ทุนทรัพย์เกินกว่าห้าหมื่นบาทจำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาก่อนที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534จะมีผลใช้บังคับ โปรดมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาด้วย
หมายเหตุ ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 96 แผ่นที่ 2)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมร เจริญสุข ผู้ตายร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบแปดต่อปี นับแต่วันฟ้องคือวันที่22 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้รับผิดต่อโจทก์ไม่เกินทรัพย์มรดก ที่ได้รับจากนายสมร เจริญสุข ผู้ตาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมร เจริญสุข ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงิน 40,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าว (อันดับ 81,79,94)
จำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 93)
คำสั่ง
จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2534 ก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 12 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกามาใช้บังคับเมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันมาในศาลชั้นต้น จำนวน 58,175 บาท จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงมีเหตุผลอันสมควรที่จะฎีกา อนุญาตให้จำเลยที่ 3 ฎีกาอย่างคนอนาถาได้ให้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 3 ไว้ดำเนินการต่อไป
อนึ่งการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในกรณีนี้ยังอยู่ในขั้นตอน ของการฟ้องฎีกาอย่างคนอนาถา ไม่ต้องเสียค่าคำร้องอุทธรณ์ คำสั่ง แต่จำเลยที่ 3 ได้เสียค่าคำร้องมา 40 บาท จึงให้คืน ค่าคำร้องแก่จำเลยที่ 3