คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1241/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกมีเจตนาจะทำพินัยกรรมเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมืองแต่ไม่ได้ไปทำต่อกรมการอำเภอ จึงไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 แต่พินัยกรรมดังกล่าวเจ้ามรดกเป็นผู้เขียนขึ้นเองทั้งฉบับ จึงมีผลใช้บังคับได้ตามมาตรา 1657 หากเจ้ามรดกไม่ประสงค์ให้พินัยกรรมมีผลบังคับได้ต่อไป จะต้องเพิกถอนเสียโดยการทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจตามมาตรา 1695 แม้เจ้ามรดกจะได้พูดสั่งเสียต่อหน้าญาติผู้ใหญ่หลายคนเป็นทำนองเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่ไม่มีการบันทึกและลงลายมือชื่อให้ถูกต้องสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบใดแบบหนึ่งตามมาตรา1656 ถึงมาตรา 1669 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรม
การที่จำเลยตกลงแบ่งที่นา บ้านและยุ้งข้าวพิพาทให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมแล้ว เพิ่งกลับใจไม่ยอมโอนให้ในภายหลัง ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 แม้โจทก์จะฟ้องคดีภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วเกิน 1 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
บ้านและยุ้งข้าวพิพาทเป็นของเจ้ามรดกมีมาก่อนแต่งงานกับจำเลยจึงมิใช่สินสมรสของจำเลยกับเจ้ามรดก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บิดาโจทก์ได้ทำพินัยกรรมยกที่นาเนื้อที่ ๑๑ ไร่ บ้านและยุ้งข้าวให้แก่โจทก์ หลังจากบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงของโจทก์อ้างว่าที่นาและยุ้งข้าวเป็นสินสมรสของบิดาโจทก์กับจำเลย ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่นาและรื้อยุ้งข้าวเสีย ขอให้พิพากษาว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยคืนยุ้งข้าวหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๗,๐๐๐ บาท และใช้ค่าเสียหายปีละ ๕,๐๐๐ บาทแก่โจทก์จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่นา
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายอ่วมเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้โจทก์ ที่นานายอ่วมยกให้จำเลย โจทก์และนายไสว บ้านและยุ้งข้าวนายอ่วมยกให้โจทก์ ทั้งสองกรณีมีข้อแม้ว่าโจทก์จะต้องไม่กลับไปอยู่กินกับนายเข็มสามีเดิมมิฉะนั้นให้บ้านและยุ้งข้าวตกเป็นของจำเลย เมื่อนายอ่วมตายโจทก์ผิดเงื่อนไขไปอยู่กินกับนายเข็ม บ้านและยุ้งข้าวจึงตกเป็นของจำเลย คดีโจทก์ขาดอายุความ ๑ ปีแล้วขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่นา บ้านและยุ้งข้าวเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้อง ให้โจทก์ส่งมอบบ้านให้จำเลยหากส่งมอบไม่ได้ให้ใช้ราคา ๒๐,๐๐๐ บาทแทน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่นาเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียวตามพินัยกรรม โจทก์ครอบครองมาตั้งแต่บิดาถึงแก่กรรม บ้านและยุ้งข้าวปลูกในที่ดินของโจทก์ย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินและโจทก์ครอบครองมา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้แบ่งที่พิพาทเนื้อที่ ๑๑ ไร่ตามฟ้องและยุ้งข้าวพิพาทให้โจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่ง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมไปจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน ให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน หากการแบ่งตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลกันระหว่างคู่ความ หรือมิฉะนั้นให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนคำขอท้ายฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่นาเนื้อที่ ๑๑ ไร่ บ้านและยุ้งข้าวเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยคืนยุ้งข้าวแก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๒,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่านายอ่วมมีเจตนาที่จะทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.๒ เป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง แต่มิได้ไปทำต่อกรมการอำเภอ พินัยกรรมจึงไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕๘ ก็ตาม เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.๒ นายอ่วมเป็นผู้เขียนขึ้นเองทั้งฉบับและได้ลงลายมือชื่อไว้เอง จึงเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามแบบพินัยกรรมเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๗ จึงมีผลใช้บังคับได้หากนายอ่วมไม่ประสงค์ให้พินัยกรรมเอกสารหมาย จ.๒ มีผลบังคับต่อไป ก็จะต้องเพิกถอนพินัยกรรมดังกล่าวเสียโดยการทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙๕ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.๒ มิได้ถูกขีดฆ่าทำลายหรือเพิกถอนด้วยประการใดๆ พินัยกรรมดังกล่าวจึงยังมีผลบังคับเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าก่อนนายอ่วมถึงแก่กรรม นายอ่วมได้พูดสั่งเสียต่อหน้าญาติและผู้ใหญ่หลายคนเป็นทำนองเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นเห็นว่า แม้จะมีการพูดสั่งเสียไว้เช่นนั้นจริง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการบันทึกและลงลายมือชื่อให้ถูกต้องสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบใดแบบหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕๖ ถึงมาตรา ๑๖๖๙ คำสั่งเสียดังกล่าวจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.๒ แต่อย่างใด
หลังจากนายอ่วมถึงแก่กรรม จำเลยและญาติทุกคนได้ตกลงแบ่งปันที่นาพิพาทให้กับจำเลยแล้ว ครั้นต่อมาโจทก์คืนดีกับนายเข็มสามีเดิม จำเลยจึงไม่ยอมโอนที่นาให้แก่โจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยตกลงแบ่งที่นาทุ่งหนองขามเปี้ย บ้านและยุ้งข้าวพิพาทให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.๒ แล้ว เพิ่งกลับใจไม่ยอมโอนให้ในภายหลัง ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๙๒ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้หลังจากนายอ่วมถึงแก่กรรมแล้วเกิน ๑ ปี ก็ไม่ขาดอายุความ
บ้านและยุ้งข้าวพิพาทเป็นของนายอ่วมมีมาก่อนแต่งงานกับจำเลยจึงมิใช่สินสมรสของจำเลยกับนายอ่วม
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่นาเนื้อที่ ๑๑ ไร่ บ้านและยุ้งข้าวเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยคืนยุ้งข้าวแก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๒,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

Share