แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลย ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลย ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ เป็นการ โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นที่ว่า ยังไม่แน่ชัดว่าผู้เสียหายใช้ไม้ตีจำเลยก่อนหรือไม่ เพราะ ทางนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณาขัดกับที่ให้การไว้ในชั้นไต่สวน แต่เชื่อว่าจำเลยกระทำลงไปเพราะอารมณ์โกรธ จึงเป็นการโต้เถียงปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษก็เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาจำเลย จำเลยเห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แตกต่างกันทั้งเนื้อหาสาระหลักกฎหมายและอัตราโทษเป็นการแก้ไขมาก ประกอบกับฎีกาของจำเลยเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้น โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 82) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80 จำคุก 12 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุม และสอบสวนมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี ของกลางริบ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวน รวมทั้งนำชี้ ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา ของศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 81) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 82)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษา แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลย ไม่ได้แก้บทมาตราด้วย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลย ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งเมื่อศาลชั้นต้นฟังว่า การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายมิใช่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว ศาลอุทธรณ์ก็ฟังเช่นเดียวกันที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยสืบเนื่องมาจากผู้เสียหาย ทำร้ายจำเลยก่อน จึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุนั้นเป็นการ โต้เถียงที่ศาลฟังว่าจำเลยกระทำอย่างไรบ้างที่อ้างว่ากระทำ เพื่อป้องกัน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยกระทำ อย่างไรและการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง