คำสั่งคำร้องที่ 881/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 3 ลักษณะ 2 ว่าด้วยฎีกามิได้บัญญัติถึงวิธีการปฎิบัติ ในการยื่นคำร้อง เพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 230 วรรคสามในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 247
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของ จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงภายในกำหนด7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับรับฎีกา การที่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งว่าจำเลยยื่นคำร้อง ขอให้รับฎีกาเกินกำหนดระยะเวลาฎีกาจึงไม่รับรองฎีกาให้นั้นเป็นการไม่ชอบและถือว่ายังไม่ได้พิจารณาสั่งคำร้องของ จำเลย ศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดส่งสำนวนและคำร้องดังกล่าวไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาสั่งต่อไป

ย่อยาว

ความว่า จำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในฎีกาว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่รับรอง ให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่รับฎีกา ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาเกินกำหนดระยะเวลา ฎีกา จึงไม่รับรองฎีกาให้ ให้ยกคำร้อง

จำเลยทั้งสองเห็นว่า จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาพร้อมทั้งยื่น คำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงภายในระยะเวลาฎีกาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ต่อมา ภายหลังจำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวน ไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับรองฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้วก็ตาม แต่ยังถือว่าเป็น เหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ควรถือว่าเป็นการ ยื่นคำร้องพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกา โปรดมีคำสั่งย้อนสำนวน ไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาอนุญาตให้ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต่อไป

หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 109)

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน 141,040 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปจนกกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลย ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองฎีกา ต่อมาผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ จึงไม่รับรองให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกา (อันดับ 97, 93) ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 1 รับรองให้ฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1มีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องให้รับรองฎีกาเกินกำหนดระยะเวลาฎีกาจึงไม่รับรองฎีกาให้ ให้ยกคำร้อง (อันดับ 102, 106)

จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 107)

คำสั่ง

พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 3 ลักษณะ 2 ว่าด้วยฎีกามิได้บัญญัติถึงวิธีการปฎิบัติ ในการ ยื่นคำร้องเพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจาก อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 230 วรรคสาม ในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิ ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา การที่อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาเกินกำหนดระยะเวลาฎีกา จึงไม่รับรอง ฎีกาให้นั้นเป็นการไม่ชอบและถือว่ายังไม่ได้พิจารณาสั่งคำร้อง ของจำเลยทั้งสอง จึงให้ศาลชั้นต้นจัดส่งจำนวนและคำร้อง ดังกล่าวไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณา สั่ง ต่อไป

Share