คำสั่งคำร้องที่ 713/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์โจทก์ข้อ 2ข้อ 3 และข้อ 4 เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54จึงไม่รับ
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ได้อุทธรณ์ในประเด็นที่ว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยคดีโดยขัดแย้งกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน และเกี่ยวกับปัญหาการตีความระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัทจำเลยทั้งสองเป็นการตีความเอกสารโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้าน (อันดับ 65)
คดีทั้งสองสำนวนโจทก์เป็นบุคคลรายเดียวกัน ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกจำเลยสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างที่ค้างจำนวน21,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่31 สิงหาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างที่ค้างจำนวน 6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว(อันดับ 61)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 62)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่านายชวลิตจันทรทิมกับนายเกรียงศักดิ์วิชญาโนทัย ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของโจทก์และไม่มีอำนาจให้โจทก์ลากิจได้ แต่นายประโชธรรมศรีชวาลา เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ศาลแรงงานกลางยังรับฟังพยานบุคคลเปรียบเทียบกับข้อบังคับเกี่ยวกับการลาหยุดพักผ่อนประจำปีของจำเลยว่า ทางปฏิบัติเมื่อพนักงานของจำเลยจะลากิจ ต้องยื่นใบลาเป็นลายลักษณ์อักษรและต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อน โจทก์เดินทางไปสหรัฐอเมริกาโดยไม่ได้ลากิจต่อนายประโชธรรม จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลากว่ายี่สิบวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2 ว่า ข้อบังคับของจำเลยไม่ได้กำหนดว่าต้องยื่นลากิจเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่ต้องยื่นต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง และอุทธรณ์ข้อ 3 อ้างว่า บริษัทจำเลยไม่เคร่งครัดในการลาและโจทก์ได้ขอลาจากนายชวลิตกับนายเกรียงศักดิ์โดยชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อ 4 อ้างว่า ทางพิจารณาโจทก์นำสืบแล้วว่านายชวลิตกับนายเกรียงศักดิ์มีอำนาจให้ลากิจได้ อุทธรณ์ทั้งสามข้อของโจทก์เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในปัญหาข้อเท็จจริง หาใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการตีความระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่ จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share