แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ป. มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อ ป.ไม่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากจำเลยให้ทำหนังสือประนีประนอมยอมความ จึงถือไม่ได้ว่า ป. กระทำการแทนจำเลย หนังสือประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องปฏิบัติตาม และจำเลยจะอ้างสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นต่อสู้ปัดความรับผิดไม่ได้
โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ จึงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวนั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224แม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์หลังฟ้องแล้วก็ไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องเรียกจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 โจทก์ซื้อรถยนต์โตโยต้าไฮลักซ์ 1 คันโดยวิธีผ่อนชำระจากห้างหุ้นส่วนจำกัดโตโยต้าสระบุรี ในราคา 107,500 บาท ในวันดังกล่าวจำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์ที่โจทก์เช่าซื้อระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 สิ้นอายุวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2521 จำเลยสัญญาจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ไม่เกิน 50,000 บาท หากรถเกิดชนหรือคว่ำ โจทก์ชำระเบี้ยประกันแก่จำเลยแล้วเป็นเงิน 4,428.01 บาท ครั้นวันที่ 20 เมษายน 2520รถยนต์ของโจทก์ชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ส. – 2020ของนายอรรถได้รับความเสียหายทั้งสองคัน รถยนต์โจทก์ต้องซ่อมและเปลี่ยนอุปกรณ์หลายชั้นเป็นเงิน 27,000 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยไม่ยอมชดใช้ค่าซ่อมรถให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 27,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า รถยนต์โจทก์ตามฟ้องจำเลยไม่เคยรับประกันภัยไว้หากจำเลยรับประกันภัยไว้จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด เพราะโจทก์นำรถยนต์มาประกันภัยผิดประเภทโดยประกันภัยประเภทบรรทุกสิ่งของ แต่กลับนำไปใช้รับจ้างบรรทุกคนซึ่งการประกันภัยประเภทหลังต้องเสียเบี้ยประกันภัยสูงกว่าการประกันภัยประเภทแรกสัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะ โจทก์มิได้ชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลย จำเลยได้บอกเลิกสัญญาทั้งสองกรณีแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีผลบังคับ หลังจากเกิดเหตุแล้วโจทก์ทำสัญญาไว้กับจำเลยว่า รถยนต์ที่มาชนกับรถยนต์ของโจทก์มีส่วนประมาทมากกว่ารถยนต์ของโจทก์ หากจำเลยพิสูจน์ไว้ว่าไม่เป็นความจริงดังที่โจทก์สัญญาไว้ โจทก์จะไม่เรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลย ซึ่งความจริงโจทก์เป็นฝ่ายประมาทผู้เดียว จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 27,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นโดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน สำหรับปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายนิติผู้ตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 7 และข้อ 8 นายนิติไม่ได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ตกลงกับโจทก์ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าบันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อนายนิติไม่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากจำเลยให้ทำหนังสือประนีประนอมยอมความ จึงถือไม่ได้ว่านายนิติกระทำการแทนจำเลยดังนั้น หนังสือประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 7และข้อ 8 จึงไม่ผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องปฏิบัติตาม จำเลยจะอ้างสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นขึ้นต่อสู้ปัดความรับผิดไม่ได้
ปัญหาข้อหลังศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนโจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวน 27,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมาย จ.1จากจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ จึงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้เงินดังกล่าวนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 แม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์หลังฟ้องแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องเรียกจากจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ตั้งแต่วันฟ้อง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน