แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสองใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา แม้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบางคนจะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยก็หาทำให้สัญญาดังกล่าวเสียไปไม่ คงมีผลเพียงไม่ผูกพันทายาทผู้มิได้ลงลายมือชื่อให้จำต้องถือตามเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายอ่อนสาและนางเสาร์เมื่อเจ้ามรดกทั้งสองถึงแก่กรรม บรรดาทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันตลอดมาโดยมิได้แบ่งปันกัน ต่อมาโจทก์ทั้งห้าได้ตกลงให้นายสิงห์สามีของจำเลยที่ 1 และบิดาของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขอออก น.ส.3 ก. ของที่ดินมรดก และใส่ชื่อนายสิงห์ไปพลางก่อนและหลังจากนั้นได้ตกลงแบ่งมรดกกันระหว่างนายสิงห์ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โดยทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือ โจทก์ที่ 3และที่ 5 ซึ่งไม่ได้ตกลงด้วยได้คัดค้านและขอให้แบ่งกันใหม่ แต่นายสิงห์ถึงแก่กรรมเสียก่อนทรัพย์มรดกรายนี้จะต้องตกแก่ทายาททั้งหมด 7 คน ๆ ละหนึ่งส่วน จึงขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า เจ้ามรดกยกทรัพย์สินให้แก่นายสิงห์แต่ผู้เดียว นายสิงห์ได้ยึดถือครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวตลอดมา ทั้งได้ขอออก น.ส.3 ก.ในนามของตนเป็นเจ้าของ ไม่เคยตกลงแบ่งทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทรัพย์พิพาทเป็นมรดก นายสิงห์ครอบครองไว้แทนทายาททั้งหลายพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์คนละหนึ่งในเจ็ดส่วน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับนายสิงห์ได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกกันแล้ว สิทธิเรียกร้องในมรดกย่อมระงับไป โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกมรดกรายนี้ ส่วนโจทก์ที่ 5 นั้นเป็นผู้รับมรดกแทนที่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้รับมรดกแทนที่มีหลายคนจึงไม่อาจทราบว่าโจทก์ที่ 5 จะมีสิทธิได้รับมรดกเป็นอัตราส่วนเท่าใด พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่าสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกไม่มีผลบังคับเพราะทายาทอื่นคือโจทก์ที่ 3 และที่ 5 มิได้ร่วมตกลงด้วย และโจทก์ที่ 5 มีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์มรดกแทนทายาทคนอื่น ๆ ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง ใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญาดังกล่าว แม้โจทก์ที่ 3 และที่ 5 จะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยก็หาทำให้สัญญาเสียไปไม่คงมีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้จำต้องถือตามเท่านั้น สัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันนายสิงห์ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้ต้องปฏิบัติตามจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคนละหนึ่งในเจ็ดส่วนให้ผิดไปจากสัญญา แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมดนั้นยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาเพราะส่วนแบ่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามสัญญาน้อยกว่าหนึ่งในเจ็ดส่วนตามที่โจทก์ขอมาเมื่อพิจารณาได้ความว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเพียงส่วนแบ่ง ศาลก็ย่อมพิพากษาให้ได้รับส่วนแบ่งตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ส่วนการที่โจทก์ที่ 5 ฟ้องเรียกทรัพย์พิพาทส่วนที่ตนและทายาทจะได้รับมรดกแทนที่บิดาของตนทั้งหมดนั้น เป็นการฟ้องในฐานะเจ้าของรวมเรียกร้องทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1359 ไม่ใช่ฟ้องขอแบ่งมรดกของบิดาของตน โจทก์ที่ 5 จึงมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์พิพาทส่วนของบิดาทั้งหมดจากจำเลยทั้งสองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4และที่ 5 ฯลฯ