แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ว่า การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งตัดพยานจำเลยเป็นการเร่งรัดคดีจำเลยฝ่ายเดียว และการที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมก่อนเบิกความตอบคำถามค้านและเป็นผู้ที่ได้ รับประโยชน์จากจำเลย กับรับฟังสำเนาเอกสารของโจทก์ และไม่รับฟังคำเบิกความของพยานจำเลย เป็นการรับฟัง พยานหลักฐานที่มิชอบ ขอให้ศาลฎีกาส่งสำนวนคดีนี้ไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่ากระบวนพิจารณาของ ศาลล่างทั้งสองขัดหรือแย้งกับสิทธิของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงมิใช่กรณีที่ศาลฎีกาจะต้องรอการพิจารณา พิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268, 352 เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานใช้เอกสารปลอม จำคุก 3 เดือน ความผิดฐานยักยอก จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 3 เดือน ให้จำเลย คืนเงินจำนวน 474,999.99 บาท ให้แก่ผู้เสียหายทั้งหก ยกฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสาร
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาโดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยมีหนังสือถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิต ขอให้ส่งสำนวนคดีนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย ในสำนวนว่าขัดหรือแย้งกับสิทธิของจำเลยตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิต มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้ขอ ความเป็นธรรมไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องใช้สำนวนนี้ประกอบการพิจารณาก็คงจะขอความร่วมมือมาเอง ในชั้นนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องส่งไปตามคำร้อง ของผู้ร้อง ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแขวงดุสิต รวบรวมสำนวนและเอกสารทั้งหมดไปให้ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิต มีคำสั่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยไม่มีสิทธิตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะเรียกให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ และไม่รับคำร้องของ จำเลยแล้ว จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องส่งสำนวนไปศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องอีก ให้ยกคำร้อง ครั้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ศาลแขวงดุสิต ดังกล่าว ผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิต มีคำสั่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของ จำเลยแล้วตามหนังสือ ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 ต่อมาจำเลยยื่นเรื่องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้เรียกสำนวนจากศาลแขวงดุสิต อีก แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุที่จะเรียกสำนวนจาก ศาลแขวงดุสิต ตามหนังสือลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 แนบท้ายคำร้อง อุทธรณ์ของจำเลยไม่มีทางเปลี่ยนแปลง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จำเลยจึง ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และยื่นคำร้องฉบับนี้ต่อศาลฎีกาว่า คดีนี้อยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยเห็นว่า การที่ศาลแขวงดุสิต มีคำสั่งตัดพยานจำเลย เป็นการเร่งรัดคดี จำเลยฝ่ายเดียว และการที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำเบิกความของ นายกิตติ วงศ์เสงี่ยม ซึ่งถึงแก่กรรมโดยที่ยังมิได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยและเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ จากจำเลย กับรับฟังสำเนาเอกสารของโจทก์และไม่รับฟัง คำเบิกความของพยานจำเลย เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่มิชอบขอให้ศาลฎีกาส่งสำนวนคดีนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อ พิจารณาวินิจฉัยว่า กระบวนพิจารณาของศาลล่างทั้งสองขัด หรือแย้งกับสิทธิของจำเลยตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลฎีกาสั่งว่า “ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ว่าการที่ศาลแขวงดุสิต มีคำสั่งตัดพยานจำเลย เป็นการเร่งรัด คดีจำเลยฝ่ายเดียวและการที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำเบิกความ ของพยานโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมก่อนเบิกความตอบคำถามค้าน และเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากจำเลย กับรับฟังสำเนาเอกสาร ของโจทก์และไม่รับฟังคำเบิกความของพยานจำเลย เป็นการ รับฟังพยานหลักฐานที่มิชอบ ขอให้ศาลฎีกาส่งสำนวนคดีนี้ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่ากระบวนพิจารณาของ ศาลล่างทั้งสองขัดหรือแย้งกับสิทธิของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดต่อ รัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่ศาลฎีกาจะต้องรอการพิจารณา พิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ให้ยกคำร้อง”