คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 82/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่มีใบอนุญาตให้มีและ ใช้เป็นของผู้ร้องโดยถูกต้อง ความผิดของจำเลยอยู่ที่ การมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืน ดังกล่าวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดเฉพาะตัว อาวุธปืนของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้น และแม้จะถือว่าเป็นอาวุธ ซึ่งเมื่อจำเลยพาไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรแล้ว ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แต่ในเมื่อคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 72 ทวิ อีกบทหนึ่ง และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษ หนักที่สุดแล้วศาลก็ย่อมไม่อาจพิพากษาให้ริบอาวุธปืน ของกลางได้ เพราะมาตรา 72 ทวิ มิได้บัญญัติให้อำนาจศาล สั่งริบอาวุธปืนที่พาไปโดยผิดกฎหมายได้เลย และจะสั่ง ให้ริบอาวุธปืนโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องซึ่งเป็นบทเบาก็ไม่ได้ด้วย เพราะศาล ไม่ได้ลงโทษจำเลยตามบทนี้ เมื่ออาวุธปืนของกลางริบไม่ได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำ ความผิดของจำเลยหรือไม่อีกต่อไป เมื่อศาลพิพากษาให้ริบอาวุธปืน ของกลางไปแล้ว ต่อมาผู้ร้องมาร้องขอคืน ก็ต้องคืนอาวุธปืน ของกลางแก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 91 ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำเลย และสั่งริบอาวุธปืนของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของอาวุธปืนของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดดังกล่าวขอให้สั่งคืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลย เพราะผู้ร้องทราบดีว่าจำเลยนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางติดตัวไปใช้ในกิจการของผู้ร้องตลอดมา โดยจำเลยไม่ได้รับหนังสืออนุญาตพิเศษให้มีและใช้อาวุธปืนจากนายทะเบียน และผู้ร้องไม่ได้ทักท้วง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การเกษตรวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านโป่งตั้งด่านตรวจค้น พบจำเลยพาอาวุธปืนมีทะเบียนในชื่อผู้ร้องใส่ช่องเก็บของหน้ารถไป จึงจับกุมจำเลยมาดำเนินคดี จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้องมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลย จึงต้องริบอาวุธปืนของกลาง เห็นว่าอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่มีใบอนุญาตให้มีและใช้เป็นของผู้ร้องโดยถูกต้อง ความผิดของจำเลยอยู่ที่การมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวไปโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดเฉพาะตัว อาวุธปืนของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตามกฎหมาย และแม้จะถือว่าเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อจำเลยพาไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรแล้ว ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้เช่นเดียวกับอาวุธอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แต่ในเมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 72 ทวิ อีกบทหนึ่ง และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้ว ศาลก็ย่อมไม่อาจพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลางได้ เพราะมาตรา 72 ทวิ ดังกล่าวมิได้บัญญัติให้อำนาจศาลสั่งริบอาวุธปืนที่พาไปโดยผิดกฎหมายได้เลย และจะถือว่าสามารถสั่งให้ริบอาวุธปืนโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องซึ่งเป็นบทเบาก็ไม่ได้ด้วยเพราะศาลไม่ได้ลงโทษจำเลยตามบทนี้เมื่ออาวุธปืนของกลางริบไม่ได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share