คำสั่งคำร้องที่ 509/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ จำเลยตามฟ้อง ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 3 จะต้องได้ความชัดว่าจำเลยกระทำผิดข้อใดข้อหนึ่ง เพียงได้ ความว่าจำเลยกระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ชัดว่ากระทำการ อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น จึงเป็น ข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี อันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 เรียงกระทงลงโทษ 3 กระทง สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล กระทงแรกปรับ 40,000 บาท กระทงที่ 2 ที่ 3 ปรับกระทงละ 20,000 บาท รวม 3 กระทง ปรับ 80,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 40,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับ ให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก กระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 ให้การ รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ไม่รับฎีกาจำเลย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาคำสั่งไม่รับฎีกา

ศาลฎีกาสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามฟ้อง จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 3 จะต้องได้ความชัดว่า จำเลยกระทำผิดข้อใดข้อหนึ่ง เพียงได้ความว่าจำเลยกระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ชัดว่ากระทำการอย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น เป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ยกคำร้อง”

Share