คำสั่งคำร้องที่ 328/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า ปัญหาที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุอะไร เป็นข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ส่วนข้อกฎหมายที่จำเลยยกมาอ้างก็เพื่อจะให้ศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่นำไปสู่การวินิจฉัยข้อเท็จจริง ถือว่าเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกันจึงไม่รับอุทธรณ์
จำเลยเห็นว่า การที่โจทก์ขาดงานและจำเลยได้ตักเตือนแล้วแต่โจทก์ไม่เชื่อฟังกลับขาดงานอีกและการกระทำของโจทก์ที่แจกใบปลิวนั้น เป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 หมวด 5ข้อ 47(3)(2) จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้นและเป็นสาระสำคัญของคดี โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยพิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 48)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ 15,360 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 43 วัน เป็นเงิน 3,655 บาท และค่าเสียหาย 5,120 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 24,135 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว(อันดับ 36)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 42)

คำสั่ง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุโจทก์เคยทำความผิดและจำเลยเคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์แล้วแต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุอื่นและจำเลยมิได้รับความเสียหายจากการกระทำโดยจงใจของโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอุทธรณ์ข้อ 2 ของจำเลยที่อ้างว่า โจทก์ขาดงานเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจนได้รับการตักเตือนเป็นหนังสือและอุทธรณ์ข้อ 3ที่อ้างว่า จำเลยได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรม เช่นนี้ อุทธรณ์ของจำเลยล้วนแล้วแต่เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share