แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยทั้งสามยื่นฎีกาซึ่งมี จ. ลงชื่อเป็นผู้เรียงคำฟ้องฎีกา จ. ได้จดทะเบียนและได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67(5) แม้จำเลยที่ 1และที่ 2 จะไม่ได้แต่ง จ. เป็นทนายของตนก็ตาม
ย่อยาว
ความว่า จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า นายจรัสเป็นทนายจำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจฟ้องฎีกาให้เฉพาะจำเลยที่ 3 เท่านั้นไม่มีอำนาจเรียงฎีกาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย รับเป็นฎีกาของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่า ตามกฎหมายทนายความและตัวความมีอำนาจเรียงคำคู่ความได้และฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 ก็มีจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ฎีกาโดยมีนายจรัส อุราสุข ทนายความลงชื่อเป็นผู้เรียงฎีกาฎีกาของจำเลยทั้งสามจึงชอบด้วยกฎหมาย โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 73)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 62)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 66 แผ่นที่ 6)
คำสั่ง
วันที่ 25 เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2538
พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่าขณะที่จำเลยทั้งสามยื่นฎีกาซึ่งมีนายจรัศ อุราสุข ลงชื่อเป็นผู้เรียงคำฟ้องฎีกา นายจรัสได้จดทะเบียนและได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67(5) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ชอบ ให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ดำเนินการต่อไป