แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกา
โจทก์เห็นว่า ประเด็นเรื่องฉ้อโกงนั้น โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์แต่มิได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวให้ โจทก์จึงฎีกาเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อหาฉ้อโกงดังกล่าวอีกตามฎีกาข้อ 1 ถึงข้อ 3 และฎีกาข้อ 4 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157หรือไม่ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ด้วย
หมายเหตุ จำเลยที่ 4 แถลงคัดค้าน (อันดับ 150)โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,90,157,341
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3
ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีจำเลยทั้งสามออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 144)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 145)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นการรับรองให้อุทธรณ์เกี่ยวกับความผิดฐานฉ้อโกงแล้วศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ เห็นว่า คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ตรี บัญญัติว่า ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ และอนุญาตให้อุทธรณ์ ฯลฯ ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป คดีนี้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารับอุทธรณ์โจทก์เท่านั้น มิได้สั่งโดยมีความเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ ตามบทบัญญัติดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาที่สั่งรับอุทธรณ์โจทก์อนุญาตให้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยความผิดฐานฉ้อโกงชอบแล้ว ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลชั้นต้นพิจารณายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่แก้ไขแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง