คำสั่งคำร้องที่ 2701/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ทั้งสองยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีของโจทก์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220จึงไม่รับฎีกาของโจทก์
โจทก์ทั้งสองเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ที่ต้องห้ามฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น มีความหมายถึงห้ามฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้นตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งไม่ต้องห้ามฎีกาแต่อย่างใด โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยทั้งสามได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1และที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1และที่ 3 ไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 41)
โจทก์ทั้งสองจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 48)

คำสั่ง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงตกอยู่ในบังคับมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ยกเลิกความในมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน”มาตรา 220 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์” เพราะฉะนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาโจทก์ตามบทมาตราดังกล่าวชอบแล้ว

Share