คำสั่งคำร้องที่ 2629/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าทั้งปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้น ไต่สวนมูลฟ้องต้องพิจารณาแต่เพียงว่า คดีมีมูลพอจะรับไว้ พิจารณาหรือไม่ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งในรูปของคำพิพากษา จึงใช้ คำว่า พิพากษาให้ยกฟ้อง เพราะฉะนั้นคำพิพากษาในชั้นนี้จึงเป็นเพียงคำสั่งเท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ และ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ต้องห้ามและ ไม่รับวินิจฉัยคดีโจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โปรดมีคำสั่ง ให้รับฎีกาของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยได้รับสำเนา คำร้องแล้วหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,177,180 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูลฟ้องพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 44) โจทก์ทั้งสองจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 45)

คำสั่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 บัญญัติ ว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 217 ถึง 221 คู่ความมีอำนาจ ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์” และมาตรา 220 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง” บทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้บัญญัติ ไว้ในภาค 4 ลักษณะ 2 หมวด 1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งว่าด้วยเรื่องหลักทั่วไปเกี่ยวกับฎีกา ดังนั้นจึงต้องใช้บังคับกับบรรดาคดีอาญาทุกคดีที่คู่ความฎีกาต่อศาลฎีกาศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share