แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเป็นเวลา 2 ปีไม่เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 แต่เป็นวิธีการสำหรับเด็กตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74(5) ที่เบากว่าการลงโทษจำคุก เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218แต่ถ้าจำเลยหรือบิดามารดาของจำเลยเห็นว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไปร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งหรือสั่งใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 วรรคท้าย.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343,83, 91 พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 มาตรา 5, 8, 17ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 5 ที่ 11 ที่ 13 และที่ 14 ให้การรับสารภาพตลอดข้อหาจำเลยอื่นนอกนั้นให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 83, 91 พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487มาตรา 5, 8, 17 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 จำเลยที่ 11 ที่ 13 และที่ 14 อายุยังไม่เกิน 14 ปีไม่ต้องรับโทษ จึงให้ส่งไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเป็นเวลา 2 ปีส่วนจำเลยที่ 5ให้จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 5มีกำหนด 1 ปีของกลางริบ
จำเลยที่ 11 ที่ 13 และที่ 14 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษโดยใช้วิธีการอื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 ซึ่งไม่ใช่วิธีส่งตัวไปสถานฝึกและอบรม
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 11 ที่ 13 และที่ 14 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยที่ 11ที่ 13 และที่ 14 ไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเป็นเวลา 2 ปีนั้น ไม่เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18แต่เป็นวิธีการสำหรับเด็กตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74(5)ที่เบากว่าการลงโทษจำคุก เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ที่จำเลยที่ 11 ที่ 13และที่ 14 ฎีกาว่า มิใช่เด็กเร่ร่อนจรจัด มีบิดามารดาให้ความอบอุ่นและหลักฐานบ้านช่องพร้อมที่จะให้ความรับรองต่อศาลจำเลยที่ 14 ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียน จำเลยทั้งสามมิได้มีเถยจิตหรือสันดานเป็นอาชญากรขอใช้วิธีการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 อนุ (1)ถึง(3) แล้วแต่เห็นสมควรนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้ แต่ถ้าจำเลยหรือบิดามารดาของจำเลยเห็นว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปก็ย่อมมีสิทธิที่จะไปร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งหรือสั่งใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 วรรคท้าย’
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสาม.