คำสั่งคำร้องที่ 2540/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 วันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะยื่นฎีกาและยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ให้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ ก็คือวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม2535 ซึ่งพ้นอายุฎีกาแล้ว ดังนั้นแม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาได้ก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้คำร้องฉบับดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กลายเป็นว่าได้ยื่นภายในอายุฎีกา

ย่อยาว

ความว่า จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาฎีกาแล้วจึงสั่งไม่รับฎีกา

จำเลยที่ 1 เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาภายในระยะเวลา แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิพากษาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาฎีกาก็ตามย่อมเป็นฎีกาที่ชอบ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ด้วย

หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกนายสุพงศ์ จรัสทวีชัยว่า จำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ประกอบมาตรา 268 วรรคหนึ่ง, 341 ลงโทษให้จำเลยฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 2 ปี ฯลฯ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2535 ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีคำสั่งลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2535 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (อันดับ 86)

จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 88 ข)

จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 91)

คำสั่ง

พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 วันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะยื่นฎีกาและยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ให้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ ก็คือวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้น เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2535 ซึ่งพ้นอายุฎีกาแล้ว ดังนั้น แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาคดีนี้ได้ก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้คำร้องฉบับดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กลายเป็นว่าได้ยื่นภายในอายุฎีกาแต่อย่างใด ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม2535 นั้น จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิจารณาอนุญาตให้ฎีกา ก็ได้ยืนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ซึ่งพ้นอายุฎีกาเช่นกัน ทั้งผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1ฉบับดังกล่าวจึงเป็นอันตกไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share