แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 4 ปี แต่ เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำ 2 ปีและขั้นสูง 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน การเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมดังกล่าว มิใช่เป็นการลงโทษจำคุก จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก ประกอบกับ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลคดีเด็กฯมาตรา 29.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83,340 วรรคสอง, 340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 15 ริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบมาตรา80, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514ข้อ 15 จำเลยทั้งสองมีอายุกว่าสิบสี่ปีแต่ไม่เกินสิบเจ็ดปีลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75จำคุกคนละ 6 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม และข้อนำสืบในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยทั้งสองของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางแล้ว เห็นว่ายังไม่สมควรพิพากษาลงโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนพ.ศ. 2494 มาตรา 31(2) และมาตรา 32 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำ 2 ปี และขั้นสูง 3 ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 4 ปีแต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง มีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำ 2 ปี และขั้นสูง 3 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เห็นว่า การเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมดังกล่าว มิใช่เป็นการลงโทษจำคุก จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 29 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1มิได้กระทำผิดและมิได้มีส่วนร่วมกับผู้กระทำผิดอีกสองคน นั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1.