คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏว่าในคดีส่วนอาญา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ ส่วนที่โจทก์ขอให้มีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งโดยพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เมื่อสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดอาญาให้สามารถยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมได้ จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาในส่วนแพ่งว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิด ให้ยกฟ้องและยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว ย่อมถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 พอใจในคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวแล้ว โจทก์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีส่วนแพ่งแทนโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 80, 83, 91, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน 1 กระบอก ซองกระสุนปืน 1 ซอง ปลอกกระสุนปืน 6 ปลอก ของกลาง และนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5589/2556 ของศาลชั้นต้นมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ส่วนข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นยังคงให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายทวีศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 1 และนายขวัญ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกผู้เสียหายที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกมานั้นสูงเกินไปและไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 371 (เดิม), 376 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นกับฐานร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 13 ปี 16 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก จำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี 10 เดือน บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 เดือน 15 วัน ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5589/2556 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 13 ปี 17 เดือน 15 วัน ข้อหาอื่นให้ยก ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,261,901.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องขอ (วันที่ 30 ตุลาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
ระหว่างระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และให้ยกคำขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นเพื่อนกัน โจทก์ร่วมที่ 2 มีคนรักทำงานอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า ซ. โจทก์ร่วมที่ 2 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา โจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไปรับคนรักที่ห้างดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อไปถึงบริเวณลานจอดรถ ได้ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก รุมทำร้ายร่างกาย พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างร้องห้ามทำให้โจทก์ร่วมที่ 2 วิ่งหลบหนีไป ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา โจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์พาคนรักออกจากห้างผ่านหน้าบ้านของนายปิยะ พบโจทก์ร่วมที่ 1 กับเพื่อน 4 คน นั่งดื่มสุรากันอยู่ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงเข้าไปร่วมดื่มสุราด้วย เวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับพวกอีกหลายคน ขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประมาณ 6 คัน มาบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่กลุ่มของโจทก์ร่วมที่ 2 หลายนัด กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมที่ 1 บริเวณหน้าอก แต่ไม่ถูกโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้ามอบตัว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิด ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์ ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิด ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ยกฟ้องและยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 และพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า ในคดีส่วนอาญา เมื่อจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 โดยเหตุลักษณะคดี และไม่ได้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ส่วนที่โจทก์ขอให้มีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งโดยพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า สิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดอาญาให้สามารถยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 โดยไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมได้ จึงเห็นได้ว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาในส่วนแพ่งว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิด ให้ยกฟ้องและยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว ย่อมถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 พอใจในคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวแล้ว คดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีส่วนแพ่งแทนโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้ คงมีเพียงว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า นอกจากโจทก์ร่วมที่ 2 แล้ว ไม่มีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากใดอีกเลยที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 4 ร่วมอยู่ในกลุ่มของคนร้ายด้วย คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 ดังกล่าวก็ไม่ยืนยันแน่ชัดว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนร้าย ส่วนที่โจทก์มีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ให้การว่า จำเลยที่ 4 ร่วมไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย และเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงกลุ่มผู้เสียหายมาเป็นพยานนั้น ก็ปรากฏในชั้นพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างไม่ได้เบิกความว่าจำเลยที่ 4 ร่วมไปด้วย โดยจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ประสบอุบัติเหตุเส้นเลือดในสมองแตก มีอาการหลงลืม ปัจจุบันยังต้องกินยารักษาอาการอยู่ ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 มีอาการปวดศีรษะ เจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับ จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้อ่าน เพราะอยากได้รับการประกันตัว คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวจึงเป็นพยานบอกเล่าที่ซัดทอดจำเลยที่ 4 ซึ่งในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยืนยันตามคำให้การดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 มีหลักฐานมาสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 ยังมีอาการป่วยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ให้การไปเช่นนั้นเพื่อให้ได้รับการปล่อยชั่วคราว ดังนั้น แม้คำให้การดังกล่าวจะเป็นคำให้การซัดทอดที่ไม่ได้ให้การเพื่อให้ตนพ้นความผิดก็มีน้ำหนักน้อย ซึ่งต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ไม่อาจนำมารับฟังประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 ให้พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักมั่นคงได้ ทั้งปรากฏว่าหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 มอบตัวต่อสู้คดีและให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังมีข้อน่าสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share