คำสั่งคำร้องที่ 249/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยทั้งสี่ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยที่ 1 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 รับเป็นฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4
จำเลยที่ 1 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 218 กล่าวคือ ฎีกาข้อ 2 เป็นเรื่องข้อเท็จจริง ตามทางพิจารณาต่างจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ข้อ 3 เป็นเรื่องศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยคำพยานนอกสำนวน พยานของโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง เป็นเหตุลักษณะคดี ข้อ 4 แม้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงก็เกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากรายงานแพทย์มีการบันทึกช่วยเหลือ ว่าโจทก์ร่วมบาดเจ็บสาหัส ก็เป็นการช่วยเหลืออันเป็นองค์ประกอบ สำคัญตามฐานความผิดที่ฟ้อง และข้อ 5 บาดเจ็บสาหัสหรือไม่เป็น ปัญหาข้อกฎหมาย คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขทั้งบทและโทษ เป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ให้จำคุก 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้ ยกฟ้องเสีย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 157)
จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 160)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะดุลพินิจในการกำหนดโทษ มิได้แก้บทความผิด เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยที่ 1 ฎีกาตามข้อ 2 และข้อ 3 ว่า คำเบิกความของ โจทก์ร่วมแตกต่างไปจากพยานอื่น และเบิกความเป็นการปรักปรำจำเลย จึงเชื่อไม่ได้ ควรฟังตามคำเบิกความของพยานอื่นที่ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุนั้น เป็นฎีกาคัดค้านดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ส่วนที่ฎีกาว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ เหตุการณ์คดีนี้เกิดชุลมุนโดยยามของห้างฯ กับโจทก์ร่วมต่างฝ่ายต่างชกกันต้องถือว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในคำฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลจะลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำร้ายโจทก์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับฎีกาตามข้อ 4 ที่ว่า คำเบิกความของพันตำรวจเอกชูชาติ ทองชัชและผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ไม่น่าเชื่อถือว่าโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บเช่นนั้นจริง กับตามข้อ 5 ที่ว่าโจทก์ร่วมเป็นนักศึกษา ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมไม่สามารถดูหนังสือเรียนได้ ทั้งได้ความจากนายศิริเดชหรือต้นจันสีหราช พยานโจทก์ว่าขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างที่มหาวิทยาลัยปิดภาคเรียน จึงไม่ได้ไปเรียนหนังสือและหลังเกิดเหตุแล้ว 3 วัน โจทก์ร่วมยังเดินทางไปหานายศิริเดชหรือต้นที่บ้านจังหวัดปทุมธานีด้วย จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันนั้น เป็นฎีกาคัดค้านดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน และโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ที่ฟังว่า โจทก์ร่วมรักษาตัวในโรงพยาบาล 15 วัน และต้องรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดทุกวันเป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์เพราะยังเดินไม่ได้เต็มที่จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share