คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 17 และ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 30 (จ) ย่อมเห็นได้ว่า การคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวโจทก์อ้างว่ามีสิทธินับเวลาทำงานตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงิน ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 30 (จ) แต่ผู้มีสิทธินับเอาประโยชน์จากเวลาทำงานช่วงหลังที่กลับเข้าทำงานใหม่ไปรวมกับเวลาทำงานช่วงแรกตามมาตรา 30 (จ) ได้จะต้องเป็นผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติอยู่แล้วเมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนโดยอาศัยสิทธิตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ 2494 มาตรา 30 (จ) เงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวจึงมีสภาพเช่นเดียวกับเงินบำนาญปกตินั่นเอง แม้ ป.พ.พ.มาตรา 193/33(4) บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องเงินบำนาญ มีกำหนดอายุความ 5 ปี แต่ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 บัญญัติให้สิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติตาม พ.ร.บ.นี้ มีกำหนดอายุความ 3 ปี และ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ.2494 เป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงให้นำอายุความตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 มาใช้บังคับ
โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน2536 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/12โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 จึงมิได้ฟ้องเรียกเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติเฉพาะส่วนที่อ้างว่าขาดภายในกำหนด 3 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

Share