แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เรือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประมงของจำเลยเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีความผิด โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 43)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 4,5,32,60,65,69,70,71 ฯลฯประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 4 เดือน จำเลยทั้งเจ็ดให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 เดือน ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว(อันดับ 38)
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 43)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ถึง 7 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาและคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ถึง 7 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ 1 ถึง 3 ซึ่งฎีกาว่าเรือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการประมงของจำเลยที่ 1 ถึง 3 เข้าข้อยกเว้นตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูกในท้องที่บางแห่งภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2531 จำเลยที่ 1 ถึง 3 จึงไม่มีความผิด นั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคำให้การรับสารภาพตามฟ้องของจำเลยที่ 1ถึง 3 เป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึง 3 ไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึง 3 ชอบแล้วให้ยกคำร้อง