คำสั่งคำร้องที่ 2309/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับศาลแรงงานกลางสั่งอุทธรณ์ว่า เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ และสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จึงจะขอทุเลาการบังคับคดีไม่ได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 49แผ่นที่ 2)
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 5,133.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 6 มิถุนายน 2532)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,516.66 บาท กับค่าชดเชยจำนวน 21,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 18 พฤษภาคม 2532)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 6 มิถุนายน 2532)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 700 บาท กับค่าชดเชยจำนวน 21,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 2 มีนาคม 2532) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยอุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 43,44)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 47)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยอุทธรณ์สรุปได้ว่า ตามข้อเท็จจริงและพยานเอกสารที่โจทก์จำเลยรับกันฟังได้ว่า โจทก์ปฏิบัติงานฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของพนักงาน พ.ศ. 2530 ของจำเลยในกรณีร้ายแรงและจำเลยมีหนังสือตักเตือนแล้วซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย กับไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตามระเบียบการทำงานของจำเลยดังกล่าวโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี อันเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า โจทก์ที่ 1 ทำเอกสารสต๊อกยาผิดพลาดกับทำยอดในการ์ดบัญชีผิดพลาดหลายครั้ง ก็เป็นเพราะหย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงาน หรือเพราะเกินความสามารถของโจทก์ที่ 1หาใช่เป็นเรื่องโจทก์ที่ 1 ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง มิใช่เป็นเรื่องฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) สำหรับโจทก์ที่ 2 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยโดยเตรียมเช็คสั่งจ่ายให้แก่บริษัทจาร์ดีนชินด์เล่อร์ (ไทย) จำกัด เสร็จภายในวันที่จำเลยสั่งแล้ว โจทก์ที่ 2 หาได้ขัดหรือฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยแต่ประการใดไม่ และการที่โจทก์ที่ 2 ปฏิบัติงานในความรับผิดชอบบกพร่อง หาใช่เป็นเรื่องการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องและจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองและในเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงต้องฟังว่าโจทก์ทั้งสองมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง และโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้หยุดตามสิทธิ จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share