คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่16 สิงหาคม 2532 แต่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2533ซึ่ง เป็นเวลาภายหลังที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ขณะฟ้องจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ขนยางให้แผนกคีบ ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2532 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 18สิงหาคม 2532 เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2532 โจทก์ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา3 วันทำงานติดต่อกันจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ แต่โจทก์หยุดงานบ่อย เป็นผู้ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน การเลิกจ้างจึงมีเหตุสมควรไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างวันที่ 16 สิงหาคม 2532 ดังนั้นในวันที่ 15สิงหาคม 2532 จึงยังไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่เรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 และข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2533 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ฉะนั้น ขณะฟ้องจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน.

Share