คำสั่งคำร้องที่ 1925/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกา ไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยมีทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายปะปนกันซึ่งข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติว่านายวีระแคชัยภูมิ จำเลย มอบอำนาจเป็นหนังสือให้นายวัชรินทร์แถวโนนงิ้ว ไปจดทะเบียนโอนที่ดินและเจ้าหน้าที่รับรองว่าหนังสือมอบอำนาจทำต่อหน้าจริงหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่จึงเป็นการตีความในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เป็น สาระสำคัญแห่งคดี และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ปรับตัวบท กฎหมายแตกต่างกันศาลชั้นต้น จึงเป็นการคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย เพราะเหตุว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามตัวบทกฎหมายดังที่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้จำเลย ได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 115,116)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175,171(1) ให้จำคุก 1 ปี
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทความผิดตาม มาตรา 171(1)(ที่ถูกคือ 181(1)) ให้ปรับจำเลย 10,000 บาท อีกสถานหนึ่งโทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยต่างยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ส่วนฎีกาของจำเลยมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว(อันดับ 99,101)
ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 114)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175,171(1)(ที่ถูก 181(1)) จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษา แก้เป็นว่า โทษจำคุกจากไม่รอเป็นรอการลงโทษและไม่ปรับบทลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181(1) แม้จะเป็นการแก้ไขมากแต่มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย จำเลยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 จำเลยฎีกาว่าเหตุที่จำเลยฟ้องผู้เสียหายเป็นคดีเพราะจำเลยเชื่อว่าหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินแทนตนใช้ได้ แต่ผู้เสียหายในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมทำ จึงได้ฟ้องผู้เสียหายในฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เท่ากับโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยทราบหรือไม่ทราบเหตุที่จำเลย ฟ้องผู้เสียหาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้น สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยจึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share