แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ฎีกา ศาลชั้นต้น สั่งว่า จำเลยที่ 7 ยื่นฎีกาภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยาย ระยะเวลาฎีกา รับฎีกาของจำเลยที่ 7 ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4ยื่นฎีกาเกินกำหนด จึงไม่รับ และจำเลยที่ 6 ไม่ได้ลงชื่อ ในฎีกา ด้วยตนเองและไม่ได้แต่งนายเดชณรงค์เทศทอง เป็นทนาย
จำเลยที่ 3 ที่ 4 เห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ 7 จะเป็นผู้ยื่นและลงลายมือชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่กรณีนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาแล้วด้วย เพราะคดีของ จำเลยที่ 3 ที่ 4และจำเลยที่ 7 เป็นคดีเดียวกันและสำนวน เดียวกัน อันเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ซึ่งศาลย่อมวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ดังนั้น เมื่อจำเลย ที่ 7 ได้รับประโยชน์จากการขอขยายระยะเวลา จำเลยที่ 3 ที่ 4 ย่อมได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวด้วย โปรดมีคำสั่ง ให้รับฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 6)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80,มาตรา 299 วรรคแรก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียว ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1และที่ 2 คนละ 12 ปี ริบหัวกระสุนของกลาง คำขออื่นให้ยก
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299ประกอบด้วยมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ริบอาวุธปืน ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่ง ดังกล่าว (อันดับ 6)
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 จึงยื่นคำร้องนี้ ศาลชั้นต้น สั่งรับคำร้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 6ไม่รับคำร้อง เพราะไม่ปรากฏว่าผู้ลงชื่อในคำร้องเป็นทนาย ของจำเลยที่ 6(อันดับ 7)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฟังเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 3ที่ 4 ยื่นฎีกาในวันที่ 13 สิงหาคม 2536 โดยมิได้ มีการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาไว้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำเลยที่ 7 ขยายระยะเวลายื่นฎีกาก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว ของจำเลยที่ 7 เท่านั้น ไม่มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่ 4 แต่อย่างใด ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 3 ที่ 4ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง