คำสั่งคำร้องที่ 1845/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือยกฟ้องโจทก์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 4 จึงไม่รับ
โจทก์เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแม้ว่าจะมีกฎหมายใหม่ออกมาว่าต้องห้ามฎีกาก็ตาม แต่คดีนี้ได้เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายใหม่จะออกมา หาใช่คดีเกิดขึ้นใหม่ไม่ จึงน่าจะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปด้วย
หมายเหตุ จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 23)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326,83 ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้ว เห็นว่าข้อความที่โจทก์ฟ้องเป็นการที่จำเลยที่ 1 เบิกความอันเปิดเผยในศาลจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 19)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 20)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17)พ.ศ. 2532 มาตรา 2 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532 และมาตรา 220แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขโดยมาตรา 13แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์” จึงต้องแปลว่าฎีกาไม่ได้ไม่ว่าข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง แม้คดีนี้จะเกิดก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแต่คู่ความจะฎีกาได้หรือไม่เพียงใด ต้องพิเคราะห์ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะยื่นฎีกา เมื่อโจทก์ฎีกาภายหลังที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแล้ว ก็ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว จึงให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์

Share