คำสั่งคำร้องที่ 1829/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์โจทก์มีผลเท่ากับ ยกฟ้องโจทก์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 4 จึงไม่รับฎีกาโจทก์
โจทก์เห็นว่า คดีของโจทก์ศาลอุทธรณ์ยังมิได้พิจารณาถึงข้อหาหรือความผิดที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฎีกาให้ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับพิจารณานั้นเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามหรือไม่ หากศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ต้องกลับนำไปพิจารณาวินิจฉัย ใหม่ถึงข้อหาหรือความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของโจทก์ จึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59,83,358
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 51)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 53)

คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ อ้างว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และเป็นผลให้อุทธรณ์ข้ออื่นที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การที่โจทก์ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายและเป็นสาระแก่คดี ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบนั้น ฎีกาของโจทก์ จึงไม่ต้องห้ามฎีกา จึงให้รับฎีกาของโจทก์และให้ศาลชั้นต้น ดำเนินการต่อไป

Share