คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะเป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงจะตกแก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างโดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยที่ 2 รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้ว และไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งถือว่าคู่ความรับกันแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน
จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องที่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาท ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นจึงไม่ชอบถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 229,723.69 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 213,779.33 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 213,779.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541) ต้องไม่เกิน 15,944.36 บาท และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงินจำนวนเดียวกับจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ และร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… โจทก์ได้บรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 ว่า ตามสัญญาประกันภัยในส่วนการคุ้มครองรับผิดต่อบุคคลภายนอกจำเลยที่ 2 จะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยเอง… จำเลยที่ 1 ได้ขับขี่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน8 ฎ – 0738 กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความยินยอมจากนางสาวเกศราภรณ์ บัวภาผู้เอาประกันภัย… จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 8 ฎ – 0738 กรุงเทพมหานคร คันที่จำเลยที่ 1 ได้ขับขี่โดยได้รับความยินยอมจากนางสาวเกศราภรณ์ บัวภา ผู้เอาประกันภัยขณะทำละเมิดทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเองและในขณะเกิดเหตุคดีอยู่ในระหว่างอายุ สัญญาประกันภัย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การสรุปได้เพียงว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มีส่วนประมาทในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย และค่าเสียหายไม่เกิน 60,400 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งในข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตามสัญญาประกันภัยในส่วนการคุ้มครองรับผิดต่อบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับรถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง และจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวขณะทำละเมิดโดยได้รับความยินยอมจากนางสาวเกศราภรณ์ ผู้เอาประกันภัย จึงมีฐานะเสมือนผู้เอาประกันภัยเอง แม้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์จะเป็นผู้กล่าวอ้างและภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะตกโจทก์ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างโดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่า จำเลยที่ 2 รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้วและไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งถือว่าคู่ความรับกันแล้ว ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84(1) ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีข้อความให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาดังกล่าว จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อเมื่อนางสาวเกศราภรณ์ ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 1 ยืมรถยนต์ของนางเกศราภรณ์ ไปขับโดยมิได้ขับรถไปในฐานะตัวแทนตัวการ ลูกจ้าง ผู้ใช้ จ้างหรือวานของนางสาวเกศราภรณ์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาท ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ศาลชั้นต้นจะได้วินิจฉัยให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นจึงไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 นั้นผิดพลาดไป ที่ถูกคือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2540 และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้แก้ข้อผิดพลาดดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 213,779.33 บาท นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share