แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า รับฎีกาเฉพาะความผิดตามมาตรา 172 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาข้ออื่นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220ไม่รับ
โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำหรือละเว้นการกระทำตามหน้าที่โดยมิชอบอันมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,162ทั้งข้อความตามที่ปรากฏในเอกสาร จ.3 จำเลยกระทำต่อหน้าบุคคลที่สามทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยย่อมมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328 อีกด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ทุกข้อไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 56)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,162,172,326,328,90,91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาบางข้อดังกล่าว(อันดับ 48)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 52)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,162ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้มีหน้าที่รับรองคุณสมบัติโจทก์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยวินิจฉัยว่า การที่จำเลยไม่รับรองโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่เหมาะสมและไม่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีหน้าที่รับรองโจทก์จำเลยไม่รับรองความประพฤติโจทก์เพราะเจตนากลั่นแกล้งเนื่องจากมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวส่วนความผิดในข้อหาตามมาตรา 326,328 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ดังนี้ ความผิดในข้อหาตามมาตรา 326,328 จึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ โจทก์จะฎีกาว่า ความผิดในข้อหาดังกล่าวมีมูลความผิดอีกไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาโจทก์ชอบแล้ว ยกคำร้อง