แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาแก้เฉพาะให้ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่ศาลชั้นต้นยังมิได้กำหนด ซึ่งมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น จึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง จึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 เห็นว่า ชั้นอุทธรณ์ทนายจำเลยที่ 2 แจ้งว่าได้ยื่นอุทธรณ์แล้วแต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ทนายจำเลยที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์ จึงเป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ใช้สิทธิในการแถลงการณ์ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีสาระสำคัญประดุจเป็นอุทธรณ์กรณีเป็นความเกี่ยวเนื่องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 205,195,198 ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย จำเลยที่ 2 จึงชอบที่จะได้รับการวินิจฉัยคดีนี้ในชั้นฎีกาต่อไป โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาด้วย
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอีกสำนวนหนึ่ง โดยให้เรียกจำเลยคดีนี้ว่า จำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,289(4) พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคสาม,72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปีฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสามสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเมื่อคำนวณลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52(1) แล้ว คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองจำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง จำคุก 8 เดือนเมื่อจำคุกตลอดชีวิตในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วก็ไม่อาจนำโทษจำคุกฐานอื่นมารวมได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค 5ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 120 แผ่นที่ 2)
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 คือ ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา มิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามที่จำเลยที่ 2ยื่นมา อีกทั้งคำร้องดังกล่าวบังคับจำต้องยื่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งแต่จากการตรวจสำนวนคดีแล้วไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือว่าจำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งตั้งแต่เมื่อใด แต่เมื่อพิจารณาวันที่ระบุในหนังสือที่ศาลจังหวัดเชียงรายที่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบผ่านเรือนจำกลางบางขวาง และวันที่ระบุในคำร้องของจำเลยที่ 2 แล้ว ยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วไม่ต้องส่งคำร้องกลับไปให้จำเลยที่ 2 แก้ไข สมควรส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นนี้ให้ศาลฎีกาพิจารณาตามกฎหมายและพิจารณาคำสั่งเกี่ยวกับความบกพร่องดังกล่าวไปพร้อมกัน (อันดับ 122แผ่นที่ 2)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ปรากฏตามหนังสือของศาลจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 24 สิงหาคม2544 ถึงผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวางให้แจ้งคำสั่งศาลไม่รับฎีกาให้จำเลยทั้งสองทราบ กับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่หัวหน้าฝ่ายควบคุมแดน 2 รับรองว่าเรือนจำได้รับคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2544 แล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ฟังคำสั่งแล้ว จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไว้ และกรณีพอถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ซึ่งปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เฉพาะข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืน โดยให้ปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ด้วยเท่านั้น ซึ่งมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คดีจึงถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง