แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 แม้เป็นคำซัดทอดก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ให้มีน้ำหนักได้ แต่ถ้าคำซัดทอดนั้นกระทำเพื่อให้ผู้ซัดทอดพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์ คำซัดทอดนั้นย่อมไม่มีน้ำหนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 ทั้งมีเหตุผลอยู่ในตัวว่าหากจำเลยที่ 2มิได้ร่วมกระทำผิดก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ให้การพาดพิงถึงจนกระทั่งเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนการให้จำเลยที่ 1นัดหมายให้จำเลยที่ 2 ออกจากบ้านมาเพื่อพบตนและถูกจับได้แสดงให้เห็นว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 2 มีความจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ใช้จ้างวานจำเลยที่ 1 ให้เอาลูกระเบิดขว้างทำลายทรัพย์สิน โรงเรือนที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายเพื่อให้เกิดความกลัวและกรรโชก ข่มขืนใจ ให้ผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยและจำเลยที่ 1 ได้กระทำตามที่จำเลยที่ 2 ใช้จ้างวานแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 จำคุกคนละ 15 ปี และลงโทษตามมาตรา 337 วรรคสอง จำคุกคนละ 4 ปีจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ให้ลงโทษจำคุกฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตามมาตรา 72 วรรคแรกจำคุก 2 ปี ฐานมีวัตถุระเบิดตามมาตรา 78 จำคุก กระทงละ 2 ปีรวมสองกระทงเป็น 4 ปี ฐานพาอาวุธปืนตาม มาตรา 72 ทวิวรรคสองจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมสองกระทงเป็น 2 ปีรวมจำคุกจำเลยที่ 1ยี่สิบเจ็ดปี จำคุกจำเลยที่ 2 สิบเก้าปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 สิบสามปีหกเดือนจำคุกจำเลยที่ 2 สิบสองปีแปดเดือน ริบของกลาง จำเลยที่ 2อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว พยานโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 คือ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ. 29กับคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.39ซึ่งมีข้อความสอดคล้องกันว่า จำเลยทั้งสองรู้จักกันตั้งแต่ครั้งจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถของนายกำพล อึ้งเจริญ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนค้าไม้กับจำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม 2527 จำเลยที่ 1 ซึ่งกำลังว่างงานมาพักที่บ้านจำเลยที่ 2ที่หมู่บ้านทิพวัลย์ อำเภอเมือง สมุทรปราการ แล้วจำเลยทั้งสองปรึกษาตกลงกันว่าจะวางระเบิดทำลายทรัพย์สินของผู้เสียหายเพื่อขู่เข็ญให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวและยอมให้เงิน 3,000,000 บาทแก่จำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 16 หรือ 17 เมษายน 2527 จำเลยที่ 2ให้เงินจำเลยที่ 1 ไป 10,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายหาเครื่องมือเพื่อวางระเบิดตามแผนการ วันที่ 19 และ 23 เดือนเดียวกันเวลาประมาณ 3 และ 4 นาฬิกา ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ขว้างระเบิดทำลายโรงเก็บรถยนต์และรถยนต์ 3 คัน ในโรงเก็บภายในเขตบ้านผู้เสียหายจนได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินจำนวนมากและพวกของจำเลยที่ 1 ได้ขว้างระเบิดใส่สำนักงานบริษัทสีรุ่งเรืองจำกัด ของผู้เสียหายจนได้รับความเสียหายด้วย หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองปรึกษาตกลงกันให้จำเลยที่ 1 พูดโทรศัพท์ขู่เข็ญเรียกร้องเงิน จำเลยที่ 1 ได้พูดโทรศัพท์ขู่เข็ญเรียกเงินจากผู้เสียหายหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายขณะจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ปากซอยลาดพร้าว 136 ขู่เรียกร้องเอาเงินผู้เสียหาย เจ้าพนักงานตำรวจก็จับจำเลยที่ 1 ได้ นอกจากเอกสารดังกล่าวโจทก์มีพยานบุคคลคือนายสุรชัย สีรุ่งเรือง ผู้เสียหายกับร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์ พุทธพงษ์ พลตำรวจสมเกียรติ ผ่องเกตพันตำรวจเอกกระเษม บูรณะปัทมะ และพันตำรวจโทสุระ จิเจริญมาสืบเป็นใจความว่าผู้เสียหายกับจำเลยที่ 2 และนายสุรพงษ์พี่ชายจำเลยที่ 2 เคยเป็นหุ้นส่วนกันและจำเลยที่ 2 เคยทำงานที่บริษัทลีรุ่งเรือง จำกัด ด้วย ต่อมาผู้เสียหายซื้อหุ้นจากจำเลยที่ 2 และนายสุรพงษ์ในมูลค่าคนละ 2,000,000 บาท จากนั้นทั้งจำเลยที่ 2และนายสุรพงษ์ก็ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทสีรุ่งเรือง จำกัด อีกเป็นเวลาปีเศษแล้วจึงเกิดเหตุคดีนี้ หลังจากมีเหตุขว้างระเบิดแล้ว จำเลยที่ 1 พูดโทรศัพท์ขู่เรียกเอาเงินจากผู้เสียหายจำนวน 3,000,000 บาท หลายครั้งในเวลาหลายวันเจ้าพนักงานตำรวจวางแผนดักจับจำเลยที่ 1 โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย วันที่ 5 พฤษภาคม 2527 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ขณะจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องโทรศัพท์จากตู้สาธารณะปากซอยลาดพร้าว 136 พูดขู่เอาเงินผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบ ร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์กับพวกจับจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 วางแผนการขว้างระเบิด และขู่เอาเงินจากผู้เสียหาย จากนั้นได้นำจำเลยที่ 1 ไปสอบสวนที่ห้องพักในโรงแรมปีบอิน แล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้วางแผนจับจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 1 พูดโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 เป็นใจความว่า ผู้เสียหายรวบรวมเงินได้ 2,100,000 บาทแล้วจำเลยที่ 1 ต้องการเงินค่าใช้จ่ายอีก ให้จำเลยที่ 2 นำเงินมาให้ที่ร้านอาหารบัวบานในเวลาระหว่าง 20 ถึง 20.30 นาฬิกา วันนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้บันทึกเสียงพูดโต้ตอบกันระหว่างจำเลยทั้งสองไว้ในแถบบันทึกเสียงหมาย จ.1 และวางกำลังคอยดักจับจำเลยที่ 2 โดยนำกำลังตำรวจโดยสารรถยนต์ 3 คัน นำตัวจำเลยที่ 1กับผู้เสียหายไปด้วยโดยให้จำเลยที่ 1 โดยสารรถยนต์ของพันตำรวจเอกทวี ทิพย์รัตน์ ให้ผู้เสียหายโดยสารรถยนต์คันเดียวกับร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์ เวลาประมาณ 20 นาฬิการถยนต์คันของร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์และผู้เสียหายไปถึงบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านทิพวัลย์ ร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์กับพวกเห็นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ลักษณะเดียวกับที่สืบทราบมาออกจากปากทางเข้าหมู่บ้านดังกล่าวไปแวะเติมน้ำมันที่ปั๊มแห่งหนึ่งใกล้ร้านอาหารบัวบานเจ้าพนักงานตำรวจจึงตามไปจับจำเลยที่ 2 ได้นำตัวไปสอบสวนที่ห้องพักโรงแรมปีบอินและบันทึกไว้ ครั้งแรกจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพแต่ไม่ยอมให้การโดยละเอียดและไม่ยอมลงชื่อ จากนั้นได้นำตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมที่สถานีตำรวจ วันที่7 เดือนเดียวกันได้ให้จำเลยที่ 1 ชี้ตัวจำเลยที่ 2 บันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.34 และถ่ายภาพไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.24พนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยที่ 2 เพิ่มเติม จำเลยที่ 2จึงยอมให้การโดยละเอียดและชี้ที่เกิดเหตุให้ถ่ายภาพไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.35 จ.36 จ.37 ทั้งพนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกการชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ตามเอกสารหมาย จ.38ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานเอกสาร พยานบุคคล และแถบบันทึกเสียงหมาย จ.1 ประกอบกันแล้ว เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวรับฟังได้สอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดดังฟ้องโจทก์และฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนตามความสัตย์จริงโดยสมัครใจ ใช้ยันจำเลยที่ 2 ในชั้นพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134, 226 ส่วนคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.29 แม้เป็นคำซัดทอดก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ให้มีน้ำหนักได้ เหตุผลสำคัญที่อาจทำให้คำซัดทอดไม่มีน้ำหนักน่าจะเนื่องจากคำซัดทอดนั้นกระทำเพื่อให้ผู้ซัดทอดพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์ แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการซัดทอดถึงจำเลยที่ 2แต่ประการใด ทั้งมีเหตุผลอยู่ในตัวว่า หากจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำผิดก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ให้การพาดพิงถึงจนกระทั่งเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนการให้จำเลยที่ 1 นัดหมายให้จำเลยที่ 2 ออกจากบ้านมาเพื่อพบตนและถูกจับได้ ทั้งการที่เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนจับกุมจนจับจำเลยที่ 2 ได้ ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจกระทำไปเพราะมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยที่ 2หรือสงสัยมาก่อนว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดคดีนี้ แต่เป็นการวางแผนจับกุมขึ้นเนื่องจากได้ทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 จากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เมื่อจับจำเลยที่ 2 ได้ตามแผนการดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 2 มีความจริง นอกจากพยานโจทก์ดังได้กล่าวมาแล้ว โจทก์ได้ส่งบันทึกเอกสารหมาย จ.43 ประกอบการซักค้านจำเลยที่ 1 ขณะเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2ซึ่งเอกสารดังกล่าวจำเลยที่ 1 รับว่าได้บันทึกด้วยลายมือของตนเองโดยจำเลยที่ 1 หาได้เบิกความปฏิเสธว่าความจริงมิได้เป็นดังข้อความที่บันทึกไว้ในเอกสารดังกล่าวไม่ เพราะฉะนั้นข้อความในเอกสารดังกล่าวตรงที่มีใจความว่า จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ทำการวางระเบิดขู่เข็ญให้ผู้เสียหายส่งเงินให้3,000,000 บาท นอกจากเป็นพยานหลักฐานที่ทำลายน้ำหนักคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่เบิกความว่าจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำผิดแล้วกลับสนับสนุนพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นให้มีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟังยิ่งขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจจัดทำแถบบันทึกเสียงหมาย จ.1 ขึ้นเองนั้นจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ สนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวทั้งไม่มีเหตุผลใด ๆ อันชวนให้น่าคิดว่าเจ้าพนักงานตำรวจสร้างพยานหลักฐานดังกล่าวขึ้นปรักปรำจำเลยที่ 2 และหากเจ้าพนักงานตำรวจทำแถบบันทึกเสียงดังกล่าวขึ้นจริงก็น่าจะทำโดยให้มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองนัดพบกันที่ปั๊มน้ำมัน ซึ่งย่อมจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนยิ่งกว่าการนัดพบกันที่ร้านอาหารบัวบานเป็นแน่ พยานจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดจริงตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 222, 218 ลงโทษจำคุก 15 ปี และมีความผิดตามมาตรา 337 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 4 ปี รวมสองกระทงเป็นจำคุก19 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์