คำสั่งคำร้องที่ 1442/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีตามคำร้องของผู้คัดค้านที่อ้างว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว โดยเลื่อนและงดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและส่งความเห็นเพื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1454เลขที่ดิน 118 แขวงคันนายาว เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 57 ไร่3 งาน 32 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 1758 เลขที่ดิน 84 แขวงคันนายาวเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา รวม 2 แปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382คำขออื่นให้ยก

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จและส่งไปศาลชั้นต้นเพื่อนัดฟังแล้ว

คดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาสืบพยานเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเนื่องจากคดีนี้ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาเสร็จสิ้นแล้วและเหตุตามที่ผู้ร้องอ้างนั้นเป็นเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียจะไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงการนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้อีกต่อไป

ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

ศาลฎีกาทำคำสั่งเสร็จและส่งไปศาลชั้นต้นเพื่อนัดฟังแล้ว

คดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา

ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาททั้งแปลงเนื้อที่ 57 ไร่ 3 งาน32 ตารางวา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2532 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่พิพาท ได้มีถนนสุขาภิบาล 2 อยู่ก่อนแล้วและขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 ฯทำให้ที่ดินพิพาทบางส่วนจำนวนเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ถูกเวนคืนเพื่อใช้สร้างถนนสาธารณะคือถนนสุขาภิบาล 2 ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องจึงไม่สามารถได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป สิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จึงขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 (ที่ถูก 15 กรกฎาคม 2537) ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนแล้ว โดยพิพากษาให้ที่ดินพิพาททั้งแปลงเนื้อที่ 57 ไร่ 3 งาน32 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เมื่อที่ดินพิพาทถูกเวนคืนคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องย่อมสิ้นไปเพราะผลทางกฎหมาย และไม่เป็นคุณแก่ผู้ร้องอีกต่อไปผู้คัดค้านทั้งสองจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่าคำร้องของผู้ร้องขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ และคำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่เชื่อข้อเท็จจริงว่า นายจำรัสสาตรแสง บิดาของผู้คัดค้านที่ 2 กับนางชุ่ม สำราญวงค์ เจ้าของที่ดินได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2499 โดยหนังสือมอบอำนาจโอนขายให้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2500 และผู้ร้องได้มายื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2532 หนังสือมอบอำนาจจึงได้ทำขึ้นเกินกว่า 10 ปีแล้ว ไม่สามารถใช้ทำนิติกรรมใด ๆ ได้คำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 ขอให้ศาลฎีกาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 โดยส่งความเห็นตามคำร้องนี้และสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 1454 เลขที่ดิน 118 แขวงคันนายาวเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แผนผังการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 1454 ดังกล่าวที่ถูกแนวตัดถนนสุขาภิบาล 2 และ 3 พระราชกฤษฎีกาและประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ หลักฐานการแก้ไขทางทะเบียนในหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 1454หนังสือมอบอำนาจพร้อมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 มาตรา 1304มาตรา 1306 และมาตรา 1299 ประมวลกฎหมายที่ดิน (กฎกระทรวง พ.ศ. 2497 ข้อ 8) ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540มาตรา 264 ประกอบมาตรา 6 หรือไม่

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารอพิจารณาสั่งในวันนัด ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้ส่งคำร้องนี้มาศาลฎีกา ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว คำร้องของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นการอ้างว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จึงขอให้ศาลฎีกาเลื่อนและงดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 264 ประกอบมาตรา 6 นั้น เห็นว่า กรณีตามคำร้องมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวโดยเลื่อนและงดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและส่งความเห็นเพื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2540 มาตรา 264 จึงให้ยกคำร้อง”

Share