คำสั่งคำร้องที่ 139/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า คดีทั้งสองสำนวนเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร และอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาด้วย พยานหลักฐานของทั้งโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างอยู่ที่กรุงเทพมหานครการที่โจทก์นำคดีนี้ไปฟ้องที่ศาลจังหวัดพังงาเป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ทำให้ต้องลำบากในการเดินทาง เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีเป็นอันมาก จำเลยที่ 1 มีรายได้เพียงจากเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ขอให้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 26
หมายเหตุ คดีทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 กับพวกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91,326,328,332 และ พระราชบัญญัติการพิมพ์พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินสำนวนละ 50,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย กับให้ลงพิมพ์คำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด ไทยโพสต์ ประชาชาติธุรกิจ และกรุงเทพธุรกิจ ฉบับละ 7 วัน โดยจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องในคดีส่วนอาญาและให้รับฟ้องในคดีส่วนแพ่งทั้งสองสำนวน
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 335/2543 และถอนฟ้องจำเลยที่ 2, ที่ 3 ในคดีหมายเลขดำที่ 338/2543 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้รวมคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน ศาลชั้นต้นอนุญาต
คดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้โอนคดีทั้งสองสำนวนไปยังศาลอาญา โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านทั้งสองสำนวน

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,91,326,328,332 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48ให้ร่วมกันชำระค่าเสียหาย กับให้ลงพิมพ์คำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ลักษณะของความผิดตามฟ้องจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง ส่วนข้ออ้างตามคำร้องขอโอนคดีของจำเลยที่ 1 ที่ว่า การที่โจทก์นำคดีทั้งสองสำนวนนี้ไปฟ้องที่ศาลจังหวัดพังงาเป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ทำให้ต้องลำบากในการเดินทางเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีเป็นอันมากนั้น มิใช่กรณีที่อาจมีการขัดขวางต่อการพิจารณาหรือน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายอย่างอื่นขึ้น อันจะเป็นเหตุให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งโอนคดีไปยังศาลอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 26
จึงให้ยกคำร้อง

Share