แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยเห็นว่า โจทก์ได้กระทำผิดตามที่ระบุไว้ในข้อ 47(1)(2)(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการปรับบทผิด จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายและเป็นข้อกฎหมายที่สำคัญแห่งคดีควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยนอกจากนี้จำเลยยังได้อุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายอีกว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ไม่ร้ายแรงนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นยุติแล้ว จึงเป็นการคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมาย หาใช่ปัญหาข้อเท็จจริงดังที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไว้ไม่ โปรดมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 119)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 2,475.20 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า 20,159.20 บาทรวมเป็นเงิน 22,634.40 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 63,659 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว(อันดับ 112)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 116)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้ความร่วมมือหรือความสะดวกแก่นางจินตนาในการกระทำความผิดนั้นเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยชอบแล้ว ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)นั้น เป็นข้อกฎหมายจึงให้รับอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป