แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายก็มิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่พิพาทกันในระหว่างใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับเดิมซึ่งยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ จำเลยจึงสามารถยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เพราะทุนทรัพย์เกินห้าหมื่นบาท และฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจำเลยได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยได้บอกยกเลิกสัญญาโดยไม่เป็นฝ่ายผิดโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และข้อสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาและคำร้อง ขอทุเลาการบังคับของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 532 เล่ม 6 ก.หน้า 32 ตำบลกุดจอก อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาทเนื้อที่ 17 ไร่ 83 ตารางวา แก่โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระราคาที่ดินแก่จำเลย 92,000 บาท หากจำเลยไม่ไปจัดการจดทะเบียนโอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยถึงแก่กรรมนางสมหมาย คะใจหรือเลี้ยงบุตร พี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 82)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 87)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาว่า สัญญาซื้อขายที่พิพาท จำเลยเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะที่ดินของจำเลยควรขายได้ราคาสูง กว่าที่ตกลงกัน สัญญาดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญานั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายดังกล่าวมิได้ขัดต่อ กฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจำเลยต้องรับผิด ต่อโจทก์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หาใช่ข้อกฎหมาย ดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่ ที่จำเลยอ้างว่า คดีนี้พิพาทกันระหว่างใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับเดิม จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า การพิจารณารับหรือไม่รับฎีกาต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยยื่นฎีกา ดังนี้ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่แก้ไขใหม่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง