แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา แต่ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ที่แก้ไขใหม่ ห้ามมิให้ฎีกาเนื่องจากทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท และการที่ศาลมีคำสั่งให้รับฎีกาจึงเป็น คำสั่งที่สั่งไปโดยผิดหลงจึงให้เพิกถอนคำสั่งเดิมตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และมีคำสั่งไม่รับฎีกาโจทก์
โจทก์เห็นว่า โจทก์ได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ มีสิทธินำเอกสารหมาย ล.1 มาวินิจฉัยเป็นข้อแพ้ชนะคดีได้ หรือไม่ นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่แก้ไขใหม่ ก็มิได้บัญญัติให้รวมถึงคดีที่ว่ากล่าวกันมา ก่อนใช้กฎหมายใหม่เพียงแต่ระบุให้ใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เท่านั้น ฉะนั้น โจทก์จึงยังคงมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ โปรดมีคำสั่ง ให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท และให้จำเลยรื้อถอนลวดหนามออกไปจากที่พิพาท ส่วนคำขออื่นให้ยก
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 59)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 69)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 2 กำหนด ให้มาตรา 18 ที่ยกเลิกมาตรา 248 เดิมและ ให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เป็นกฎหมายวิธีพิจารณาว่าด้วย ข้อห้ามฎีกาในคดีแพ่ง ย่อมมีผลให้ใช้บังคับทันทีตามวันเวลาที่ กำหนดไว้ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นคดีที่มีมาก่อนหรือหลังจากกฎหมาย แก้ไขเมื่อโจทก์ยื่นฎีกาหลังจากที่กฎหมายแก้ไขใหม่บังคับแล้ว จึงต้องบังคับตามกฎหมายที่แก้ไขแล้ว
ที่โจทก์อ้างว่าศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารหมาย ล.1 ไม่ได้เพราะมิใช่ต้นฉบับนั้น แม้จะเป็นข้อกฎหมาย แต่เอกสารดังกล่าวจำเลยให้โจทก์ตรวจดูตอนตอบคำถามค้าน โจทก์รับว่าได้ทำไว้จริง กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องที่คู่ความรับกันว่าถูกต้อง ศาลย่อมรับฟัง สำเนาเอกสารแทนต้นฉบับได้ ข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง