แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า ตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ไม่เป็นประเด็นที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นอุทธรณ์ข้อ 3 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์โจทก์ในข้อดังกล่าว ส่วนอุทธรณ์ข้อ 2.2 โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านไว้แล้ว รับเป็นอุทธรณ์โจทก์
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ข้อ 2.1 ที่ว่าหนังสือมอบอำนาจที่บริษัทจำเลยมอบอำนาจให้คุณหญิงวรรณีวิทยะสิรินันท์ มายื่นคำให้การไม่สมบูรณ์ เป็นประเด็นที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้แล้วในศาลแรงงานกลาง กล่าวคือโจทก์ได้หยิบยกไว้ในคำแถลงการณ์ปิดคดีของโจทก์ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2529 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ในประเด็นนี้ต่อศาลฎีกาได้แต่ถึงแม้ศาลฎีกาจะเห็นว่าประเด็นนี้ไม่ได้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ในประเด็นนี้ได้เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวกับอำนาจต่อสู้คดีซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนส่วนอุทธรณ์ข้อ 3 โจทก์อุทธรณ์ว่า การวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานกลางคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดด้วย
หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 40)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 10,642.80 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 39,096 บาทแก่โจทก์ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 32)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 35)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 3 ที่ว่า จากข้อความตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อฟังประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์และคำเบิกความของคุณหญิงวรรณีวิทยะสิรินันท์ เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าพยานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้นั้นชอบแล้ว
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ที่ว่า คำให้การของจำเลยเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำสืบพยานไปตามคำให้การดังกล่าวได้ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะรับไว้พิจารณา เพราะเป็นกรณีที่ถือได้ว่าเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง จึงให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้และให้จำเลยแก้ แล้วรีบส่งสำนวนคืนศาลฎีกา