คำสั่งคำร้องที่ 1322/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีจำเลยทั้งสาม ฎีกาในข้อเท็จจริง แต่จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา ไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 จึงไม่รับฎีกา
จำเลยทั้งสามเห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสามมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่ด้วย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสามไว้พิจารณา พิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องหรือไม่
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและสำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ดอกเบี้ยใน อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาท นับ ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2529 จนถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2530 ให้แก่ โจทก์ที่ 1 แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง (วันที่ 13 สิงหาคม 2529) ให้คิดได้ไม่เกิน 54,246.58 บาทและให้จำเลยทั้งสามร่วมกัน ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2529 จนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2530 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง (วันที่ 22 กันยายน 2529)ให้คิดได้ไม่เกิน 70,684.93 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา เฉพาะปัญหาเรื่องดอกเบี้ยศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา (อันดับ 170)
ทนายจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 171)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสามฎีกาสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดตามเช็คที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระเป็นค่าซื้อหุ้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.6 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ การทำสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการ ซื้อหุ้นของตนเอง จึงเป็นโมฆะ และที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้โอนหุ้น และที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เนื่องจากโจทก์ ทั้งสองผิดนัด ไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยจึงมีสิทธิ ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค ทั้งพยานโจทก์ไม่น่ารับฟัง จำเลยไม่ต้อง รับผิดชำระดอกเบี้ยตามเช็คทั้งสองฉบับ ฎีกาดังกล่าวนี้ เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 สลักหลังนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาชำระค่าหุ้น ให้โจทก์ทั้งสอง มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นของตนเอง สัญญาไม่เป็นโมฆะ ทั้งเหตุที่โจทก์ทั้งสองโอนหุ้นและที่ดินพร้อม ตึกแถวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ก็เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสามชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share