คำสั่งคำร้องที่ 1319/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ร่วมยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ไม่รับฎีกาเพราะ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง
โจทก์ร่วมเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 17 พุทธศักราช 2532มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2532 แต่คดีนี้จำเลยได้กระทำ ความผิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2532 ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 218 วรรคสอง จึงอยู่ในบทบังคับเดิมก่อนแก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งวรรคสองเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นโทษแก่โจทก์ร่วม อันเป็นการจำกัดสิทธิโจทก์ร่วมมิให้ฎีกา เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง ใช้บังคับแก่โจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริง ได้ และฎีกาข้อ 4 เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ไม่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218 แต่อย่างใด โปรดมีคำสั่งให้รับ ฎีกาของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปด้วย
หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 30)
ระหว่างพิจารณานายทองดุลย์ธัญญะวุฒิ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ประกอบด้วยมาตรา 224 วรรคแรก พิเคราะห์ พฤติการณ์แห่งคดีเห็นว่าแม้การกระทำของจำเลยเป็นเหตุ ให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2 คน แต่น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมมีส่วน เป็นต้นเหตุทำให้จำเลยกระทำผิด ให้ลงโทษจำเลยจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 25 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 29)
โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 30)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว การพิจารณาว่าคดีของโจทก์ร่วมจะฎีกาได้ หรือไม่ต้องพิจารณาตามตัวบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นฎีกา โจทก์ร่วม ยื่นฎีกาวันที่ 3 เมษายน 2535 หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 ใช้ บังคับแล้ว และปรากฏว่าคดีของโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย เกิน 5 ปี คือ จำคุก 25 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้าม ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ที่แก้ไข ใหม่ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาข้อ 4 ของโจทก์ร่วมที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ ฎีกาทุกข้อของโจทก์ร่วมชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share