แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่ง ว่า ฎีกาข้อ 2(1), 3,3(1),3(2) ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง ฎีกาข้อ 2(2) เป็นข้อกฎหมาย ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมา โดยชอบใน ศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อ 2(3) ไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่รับฎีกา
จำเลยทั้งสองเห็นว่า ฎีกาข้อ 2(1),3,3(1),3(2)ไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง ฎีกาข้อ 2(2) จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แล้ว ในปัญหาข้อนี้แต่ศาลอุทธรณ์มิได้ยกขึ้นพิจารณา พิพากษา และฎีกาข้อ 2(3) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณา เพื่อความสะดวก ให้เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทในกรอบสี่เหลี่ยมจากหลักไม้ (ลม) เป็นแนวเส้นตรงตามรอยหมึกลูกลื่นสีน้ำเงินไปยัง หลักเขตที่ดินหมายเลข ก 01789 ลงไปทางทิศใต้จนถึงแนวรอยประสีเขียว-เส้นล่างตามแผนที่พิพาทหมายพ.1 เป็นที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถอนหลักเขต ที่ดินหมายเลข ฌ 8655 หลักเขตที่ดินหมายเลข ฌ5227และหลักเขตที่ดินหมายเลขฌ 4150 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนอู่ซ่อมรถ ออกจากที่ดินโจทก์ และที่พิพาทตามแผนที่พิพาทหมาย พ.2 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาท ส่วนคำขอที่ หากจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนเองโดยจำเลย เสียค่าใช้จ่ายนั้น โจทก์ชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ เสีย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 104)
จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 107)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีของโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้เป็น คดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง โจทก์จึงฎีกา ข้อเท็จจริงตามฎีกาข้อ 2(1),3,3(1) และ 3(2) ได้ สำหรับฎีกา ข้อ 2(2) นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ส่วนฎีกาข้อ 2(3) นั้นเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกเช่นกัน จึงให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองเฉพาะข้อ 2(1), 3,3(1) และ 3(2) ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป