คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย จนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 135(2)และเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียงรายเดียวถอนคำขอรับชำระหนี้ไป ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย โจทก์จึงนำมูลหนี้รายเดียวกันมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายอีก ดังนี้ หากยอมให้โจทก์เอาหนี้ที่หมดสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลายแล้วกลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายใหม่ก็เท่ากับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาขอรับชำระหนี้อันผิดบทบัญญัติในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 และการที่ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้ล้มละลายนั้น ย่อมทำให้ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิ และไม่สามารถจัดกิจการทรัพย์สินได้ด้วยตนเองจึงต้องเป็นไปโดยมีเหตุผลสมควรจริง ๆ ไม่ใช่ให้ใช้กฎหมายล้มละลายเป็นเครื่องมือบีบคั้นลูกหนี้ กรณีนี้ฟังได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14ศาลต้องยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน139,565 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยก็ไม่ชำระ โจทก์ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินของจำเลยมาบังคับคดีได้ เพราะจำเลยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เลย จึงถือว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้โจทก์จริง โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย และศาลชั้นต้นได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม2530 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2531 เพื่อให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย แต่โจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ ส่วนเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีเพียงรายเดียวคือธนาคารกรุงไทย จำกัด ก็ได้รับชำระหนี้และถอนคำขอรับชำระหนี้ไปแล้ว ศาลจึงได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2531 ให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีล้มละลายคดีก่อน ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง และตามคำให้การของจำเลย และจำเลยรับเพิ่มเติมอีกว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินใดนอกจากเงินเดือน เพราะทรัพย์สินอื่นได้ขายชำระหนี้ไปหมดแล้วศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดการพิจารณาเพราะเห็นว่าคดีเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการพิจารณาคดีล้มละลายศาลจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งบัญญัติว่าในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง หนี้ของโจทก์คดีนี้เป็นหนี้ที่โจทก์อาจขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.12/2530 ของศาลชั้นต้น แต่โจทก์ได้ขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงเป็นอันหมดสิทธิที่จะเรียกร้องจากจำเลยในคดีล้มละลายได้ และโดยเฉพาะคดีนี้ได้ความว่าโจทก์เองเป็นผู้ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายจนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อเกินกำหนดเวลา และมีเจ้าหนี้รายเดียวยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาแต่ก็ถอนคำขอรับชำระหนี้ไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว ถ้าหากยอมให้โจทก์เอาหนี้ที่หมดสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลายแล้ว กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายใหม่ก็เท่ากับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาขอรับชำระหนี้อันผิดบทบัญญัติในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91และการที่ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้ล้มละลายนั้นย่อมทำให้ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิ และไม่สามารถจัดกิจการทรัพย์สินได้ด้วยตนเอง จึงต้องเป็นไปโดยมีเหตุผลสมควรจริง ๆ ไม่ใช่ให้ใช้กฎหมายล้มละลายเป็นเครื่องมือบีบคั้นลูกหนี้ ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ถือได้ว่า เป็นเหตุที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลจึงต้องยกฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ตอนท้ายตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2506 ระหว่าง บริษัทธนาคารกรุงเทพจำกัด โดยนายบุญชู โรจนเสถียร กรรมการ โจทก์ นายทรง คุณานุสรณ์หรือจี้นซ้ง แซ่โค้ว จำเลย
พิพากษายืน

Share