แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 จึงไม่รับ จำเลยเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 บัญญัติไว้เพียงว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ ดังนั้นตามข้อบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงหมายถึงเพียงคำสั่ง ของศาลชั้นต้นเท่านั้นที่ทำให้คดีเด็ดขาดไปได้ในกรณี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คดีมีมูล การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้คดีมีมูล จึงไม่เป็นการต้องห้ามที่จะไม่ให้จำเลยฎีกา โปรดมีคำสั่ง ให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไปด้วย หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(ถ้อยคำสำนวน อันดับ 4) โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,80 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า คดีโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(ถ้อยคำสำนวน อันดับ 3) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (ถ้อยคำสำนวน อันดับ 4)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่าคดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 170 วรรคหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาได้ ให้ยกคำร้อง