คำสั่งคำร้องที่ 1023/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาข้อเท็จจริงและไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เห็นว่า ฎีกาที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เป็น สาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกา ของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่ วันที่ 29 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 14 ธันวาคม 2535)ต้องไม่เกินตามที่โจทก์ขอมา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 65) จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 68)

คำสั่ง ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญา ประนีประนอมยอมความกับโจทก์แล้วนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำ ไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โจทก์ไม่มี อำนาจฟ้องเพราะมูลหนี้ละเมิดระงับแล้วตามสัญญาประนีประนอม ยอมความที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่ จำเลยที่ 2 มิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ ในคำให้การ และศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงไว้ตาม ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ฎีกาข้อ 3 ก. ของจำเลยที่ 2 จึงเป็น ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ โดยตรง จึงไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนฎีกาข้อ 3 ค. นั้น จำเลยที่ 2 ยกเป็นข้ออุทธรณ์ไว้แต่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ คำสั่ง ปัญหาดังกล่าวจึงยุติ จำเลยที่ 2 จะยกขึ้นฎีกาต่อมาอีกไม่ได้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อ 3 ก. และข้อ 3 ค. ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล สำหรับฎีกาจำเลยที่ 2ข้อ 3 ข. ที่ว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถถอยหลังพุ่งชน ด้านหน้าของรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ขณะรถที่โจทก์รับประกันภัย ไว้จอดอยู่ แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จอดรถไว้โดย ไม่ใส่เบรกมือรถจึงไหลถอยหลังไปชนถูกรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ข้อเท็จจริงจึงต่างกันในข้อสาระสำคัญ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง(ให้จำเลยที่ 2 รับผิด) นั้น เท่ากับจำเลยที่ 2 โต้แย้งว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริง ในคำฟ้องในข้อสาระสำคัญ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ นั่นเอง ข้อฎีกาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเกิดขึ้น จากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ไม่สามารถยกขึ้น กล่าวอ้างได้ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยที่ 2 จึงยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาได้ ให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ ไว้ดำเนินการต่อไป

Share